ใบความรู้ที่ 9
อ.ไชยฉัตร โรจน์พลทามล
ยอดกวีของจีน
1.หลี่ไป๋ “เซียนแห่งกวี”
หลี่ไป๋เป็นกวีมีชื่อเสียงโด่งดังสมัยราชวงศ์ถังของจีน มีอุปนิสัยอวดดีลำพองตัว มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ใจนักเลงและเปิดเผย มีความคิดอิสระ ทั้งนี้สะท้อนถึงคุณลักษณะแห่งยุคสมัยและสภาพจิตใจของปัญญาชนในช่วงเวลาที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดของราชวงศ์ถัง
หลี่ไป๋มีบ้านเกิดอยู่ที่มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน จนกระทั่งบัดนี้ สภาพครอบครัวและแหล่งกำเนิดที่แน่นอนของหลี่ไป๋ก็ยังคงเป็นปริศนาอยู่ บทกวีของหลี่ไป๋กล่าวว่า ครอบครัวของเขาร่ำรวยและมีการศึกษา หลี่ไป๋อ่านหนังสือมากมาตั้งแต่เยาว์วัย นอกจากอ่านหนังสือแล้ว เขายังฝึกมวยรำกระบี่ได้ดีด้วย เพื่อหาความรู้เพิ่มเติม หลี่ไป๋ออกท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆตั้งแต่อายุ 20 ปีเศษ เพราะเขามีความรอบรู้ มีความสามารถเฉลียวฉลาดเหนือคนทั่วไป จึงประสบผลสำเร็จยอดเยี่ยมในด้านกวีนิพนธ์ แม้ว่าสมัยนั้น เทคโนโลยีการพิมพ์และการคมนาคมยังไม่เจริญนัก แต่หลังจากการแลกบทกวี้กันระหว่างปัญญาชน ก็ทำให้หลี่ไป๋มีชื่อเสียงโด่งดังตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม
การศึกษาหาความรู้และการเข้าร่วมการสอบคัดเลือกขุนนางเป็นทางเลือกของผู้เรียนหนังสือในสมัยโบราณของจีนมาแต่ไหนแต่ไร ในวัยเยาว์หลี่ไป๋ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับผลสำเร็จในวิถีชีวิตขุนนาง เขาจึงเดินทางไปถึงกรุงฉางอาน ราชธานีของราชวงศ์ถัง เนื่องจากเขาเป็นกวีชื่อดัง รวมทั้งได้รับการเสนอชื่อจากบุคคลที่มีชื่อเสียง หลี่ไป๋จึงมีโอกาสได้เป็นอาลักษณ์วรรณคดีของจักรพรรดิในราชวัง ระยะนี้นับเป็นช่วงเวลาที่หลี่ไป๋มีความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต
หลี่ไป๋มีอุปนิสัยถือดี เขาไม่พอใจต่อสภาพเหลวแหลกเน่าเฟะในเวทีการเมืองเป็นอย่างมาก เขาเคยหวังไว้ว่า จะได้รับโปรดเกล้าจากจักรพรรดิแต่งให้มีโอกาสแสดงความสามารถทางการเมือง แต่จักรพรรดิในขณะนั้นทรงมองหลี่ไป๋เป็นเพียงกวีส่วนพระองค์เท่านั้น ประกอบกับเจ้าขุนมูลนายบางคนในราชสำนักใส่ร้ายป้ายสีเขา ในที่สุดก็ทำให้จักรพรรดิทรงขาดความเชื่อถือหลี่ไป๋ ด้วยเหตุนี้ หลี่ไป๋จึงจำต้องอำลาจากจากกรุงฉางอานด้วยความผิดหวังต่อราชสำนัก และหันไปใช้ชีวิตแบบนักท่องเที่ยวอีกครั้ง
หลี่ไป๋ใช้เวลาส่วนใหญ่ออกท่องเที่ยวไปทั่วประเทศ ระหว่างนั้น เขาได้แต่งบทกวีพรรณนาถึงทัศนียภาพธรรมชาติเป็นจำนวนมาก บทกวีที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาจนปัจจุบันของหลี่ไป๋มีมากมาย เช่น “สู่เต้าจือหนัน หนันอวีซ่างชิงเทียน”ซึ่งหมายความว่า“ทางขึ้นภูเขาในมณฑลเฉสวน ยากยิ่งกว่าการปีนขึ้นท้องฟ้า” “จวินปู๋เจี้ยนหวงเหอจือสุ่ยเทียนซ่างไหล เปินหลิวเต้าไห่ปู้ฟู่หุย”แปลเป็นไทยว่า “ท่านไม่เห็นแม่น้ำเหลืองไหลจากฟ้า ธาราไหลเชี่ยวสู่ทะเลไม่หวนกลับ ” “เฟยหลิวจื๋อเซี่ยซันเชียนฉื่อ อวี๋ซื่ออิ๋นเหอลั่วจิ่วเทียน” แปลเป็นไทยว่า “ไหลละลิ่วพุ่งพาดลงสามร้อยวา สงสัยว่าเป็นคงคาเงินจากเมืองแมน”เป็นต้น บทกวีของหลี่ไป๋มักนิยมเขียนเชิงขยายความและใช้อุปมาอุปมาย
บทกวีของหลี่ไป๋ที่เหลือตกทอดมาจนถึงปัจจุบันมีกว่า 900 บท นอกจากนี้ยังมีบทร้อยแก้วกว่า 60 บท บทกวีของหลี่ไป๋ดึงดูดใจผู้คนทั้งหลายด้วยภาพจินตนาการอันมหัศจรรย์และให้ภาพที่สง่างาม มีอิทธิพลลึกซึ้งและยืนยาวต่อชนรุ่นหลัง ได้รับการยกย่องจากชนรุ่นหลังว่าเป็น “เซียนแห่งกวี”
静 夜 思
床 前 明 月 光 ,疑 是 地 上 霜 。
举 头 望 明 月 ,低 头 思 故 乡 。
2.ชีหยวน
ชีหยวนเป็นกวีที่ประชาชนจีนเลื่อมใสศรัทธาและรักที่สุดคนหนึ่งในช่วงหลายพันปีที่ผ่านมา เขาใช้ชีวิตในสมัยจ้านกว๋อ (ก่อนค.ศ.475-ก่อนค.ศ.221)สมัยจ้านกว๋อของจีนเป็นช่วงเวลาที่มีก๊กหรือแคว้นต่างๆจำนวนมาก และเกิดสงครามระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง ในบรรดาก๊กต่างๆ ก๊กฉินกับก๊กฉู่เป็นประเทศที่มีกำลังเข้มแข็งเกรียงไกรที่สุดในเวลานั้น ก๊กขนาดเล็กจำนวนกว่า 10 ก๊กอื่นๆต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยก๊กฉินหรือก๊กฉู่ซึ่งเป็นสองก๊กใหญ่ในสมัยนั้น
ชีหยวนเป็นขุนนางชั้นสูงของก๊กฉู่ และมีตำแหน่งสูงในรัฐบาล เขาเป็นคนมีความรอบรู้ มีความเชี่ยวชาญในกิจการต่างประเทศ จึงได้รับความชื่นชอบจากกษัตริย์ของก๊กฉู่ในช่วงระยะแรกที่เป็นขุนนาง ในเวลานั้น กษัตริย์และพวกเจ้าขุนมูลนายทั้งหลายต่างพากันรับสมัครบุคคลที่มีความรู้ความสามารถให้มารับใช้ตัวเอง ทำให้การให้เกียรติแก่ผู้มีสติปัญญากลายเป็นกระแสของสังคม เวลา นั้น มีนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงจำนวนมากต่างก็พากันออกไปเที่ยวพูดโน้มน้าวตามก๊กต่างๆและฟันฝ่าต่อสู้เพื่อให้อุดมการณ์การเมืองของตนบรรลุผลสำเร็จ แต่ชีหยวนไม่เหมือนบรรดานักปราชญ์ดังกล่าว เขารักปิตุภูมิตัวเองสุดชีวิต หวังที่จะช่วยเหลือกษัตริย์ของก๊กฉู่ด้วยความรู้ความสามารถของตน ช่วยให้ก๊กฉู่เปิดกว้างทางการเมืองและมีพลังประเทศที่เข้มแข็งเกรียงไกร ด้วยอุดมการณ์เช่นนี้ ชีหยวนไม่เคยยอมออกจากปิตุภูมิแม้แต่ก้าวเดียวจนถึงตาย แต่สิ่งที่น่าเสียใจก็คือ เนื่องจากชีหยวนเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับกลุ่มเจ้าขุนมูลนายที่เหลวแหลกของก๊กฉู่ ขณะเดียวกัน เขายังถูกใส่ร้ายป้ายสีด้วย ทำให้กษัตรย์ของก๊กฉู่ทรงห่างเหินไปจากชีหยวน หลังจากนั้น สถานภาพที่เป็นก๊กใหญ่ที่เข้มแข็งของก๊กฉู่ก็ได้ค่อยๆอ่อนแอ่ลง ในปีค.ศ. 278 ก่อนคริสต์กาล กองทหารของก๊กฉินได้ตีเมืองหยิงราชธานีของก๊กฉู่แตก เมื่อบ้านแตกชาติสลาย ชีหยวนเศร้าโศกเสียใจจนยากที่จะอดรนทนได้ จึงได้กระโดดน้ำเสียชีวิตในที่สุด
มรดกที่ชีหยวนเหลือตกทอดไว้แก่ชนรุ่นหลังนั้นเป็นผลงานอมตะที่ยิ่งใหญ่ เขาเป็นกวีที่ประพันธ์บทกวีอย่างเป็นตัวของตัวเองคนแรกของจีน
บทกวี“หลีเซา”ที่เป็นตัวแทนผลงานของชีหยวนนับเป็นบทกวีพรรณนาอารมณ์ความรู้สึกทางการเมืองเชิงโรแมนติคที่มีความยาวที่สุดในประวัติวรรณคดีของจีน ในบทกวีบทนี้ ชีหยวนอ้างอิงพจนะจากหนังสือประวัติศาสตร์มากมายเพื่อแสดงความหวังว่า กษัตรย์ของก๊กฉู่จะเหมือนกับ“หยอ”“เซิ่น”และ“อยี๋”ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่ทรงปรีชาญาณในพงศาวดาร ดำเนินนโยบายภายในประเทศที่แต่งตั้งใช้ผู้มีความรู้ความสามารถ มีความเป็นธรรมและสุจริต ใช้อำนาจบริหารประเทศด้วยคุณธรรม และดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ร่วมมือกับก๊กอื่นๆเพื่อต่อต้านก๊กฉิน “หลีเซา”ได้ทะลุกรอบรูปแบบการประพันธ์ของ“ซือจิง”หรือ“คัมภีย์บทกวี”ที่เป็นชุมนุมบทกวีฉบับแรกของจีน ทำให้บทกวีมีพลังแสดงออกมากขึ้นอย่างมาก ได้สร้างโลกใหม่แก่การเขียนบทกวีสมัยโบราณของจีน
ในผลงานบทประพันธ์ของชีหยวนได้ปรากฏความคิดแปลกๆมากมาย เขาเปรียบไม้ดอกไม้ผลและต้นหญ้าเสมือนมนุษย์ และได้สร้างภาพลักษณ์นางฟ้าเป็นจำนวนมากเพื่อฝากฝังอารมณ์และความคิดอันสูงส่งของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ เวลาอ่านบทประพันธ์ของชีหยวน ผู้อ่านนอกจากจะได้สัมผัสถึงความงดงามของภาษาและความมหัศจรรย์ของคำเปรียบเปรยแล้ว ยังจะได้สัมผัสถึงอารมณ์และความคิดอันสูงส่ง ความรักชาติและความอาลัยอาวรบ้านเมืองที่กวีฝากไว้กับบทประพันธ์ ด้วยเหตุนี้เอง ตลอดระยะเวลาหลายพันปีที่ผ่านมา ชีหยวนจึงเป็นกวีโบราณที่ประชาชนจีนให้ความเคารพรักมากที่สุดคนหนึ่ง
3.เถายวนหมิง
เถายวนหมิงเถาเยวนหมิงมีอีกชื่อหนี่งว่า เถาเฉียน เขาเป็นคนในสมัย“ตงจิ้น”หรือจิ้นตะวันออก
ในคริสต์ศตวรรษที่ 4 เป็นผู้ริเริ่มบทกวีสำนักลูกทุ่ง ตลอดชีวิตของเถายวนหมิง เขาเป็นคนใช้ชีวิตเรียบง่าย นับถือและชื่นชมธรรมชาติ มีคุณธรรมสูง จิตใจงดงาม ซื่อส้ตย์และเปิดเผยตรงไปตรงมา อุปนิสัยของเถายวนหมิงเป็นที่ยกย่องชมเชยและเลื่อมใสศรัทธาจากบรรดาปัญญาชนในยุคสมัยต่างๆของจีน
ปู่ทวดของเถายวนหมิงชื่อ เถาขัน เป็นรัฐบุรุษอาวุโสที่ร่วมก่อตั้งประเทศของราชวงศ์ตงจิ้น ปู่และพ่อของเถายวนหมิงต่างก็เคยเป็นขุนนาง พ่อของเขาเสียชีวิตขณะเถายวนหมิงมีอายุเพียง 8 ขวบ ทำให้ฐานะครอบครัวของเขาตกต่ำลงเรื่อยๆ เถายวนหมิงในวัยเยาว์ก็เคยมีปรารถนาจะก้าวหน้าในวิถีชีวิตราชการและมีผลงานในเวทีการเมืองบ้าง
อย่างไรก็ตาม “ตงจิ้น”เป็นยุคที่บ้านเมืองปั่นป่วนมาก เกิดการต่อสู้กันระหว่างเชื้อพระวงศ์อย่างต่อเนื่อง การเมืองอยู่ในสภาพเหลวแหลกเน่าเฟะ เถายวนหมิงมีนิสัยซื่อตรงหลังจากเข้าดำรงตำแหน่งขุนนางเป็นครั้งแรกขณะอายุ 29 ปี ได้ไม่นานก็ต้องลาออกกลับไปบ้านเพราะทนความเหลวแหลกเน่าเฟะและความมืดมนสกปรกของวงการการเมืองไม่ได้ หลังจากนั้น เถายวนหมิงเคยกลับเข้ารับตำแหน่งขุนนางชั้นผู้น้อยหลายครั้งเพื่อเลี้ยงชีพครอบครัว แต่ก็ต้องลาออกไปทุกครั้งเพราะเหตุผลเดียวกัน
ต่อมา เถายวนหมิงยากจนลงเรื่อยๆ ต้องทำไรไถนาเอง แต่ก็ยังไม่พอเลี้ยงครอบครัวอยู่ดี เขาจึงจำต้องไปสมัครทำงานราชการอีกครั้งเมื่ออายุ 41 ปี และได้ตำแหน่งนายอำเภอ“เผิงเจ๋อ” เนื่องจากเถายวนหมิงยังคงไม่ยึดติดในฐานะชื่อเสียงและความมั่งคั่ง ไม่ยอมประจบและสมยอมกับผู้มีอิทธิพล เป็นนายอำเภอได้เพียง 80 กว่าวันก็ต้องลาออกอีก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป เถายวนหมิงก็เลิกลาจากวงราชการอย่างถาวร หันไปใช้ชีวิตชาวนาทำไร่ไถนาเป็นอาชีพ
ชีวิตลูกทุ่งของเถ้ายวนหมิงมีความลำบากยากแค้นยิ่ง เมื่อเขามีอายุ 44 ปี บ้านถูกไฟไหม้เสียหายอย่างหนัก ทำให้ชีวิตเขายิ่งเดือดร้อนมากขึ้น บทกวีของเถ้ายวนหมิงที่ว่า “เซี่ยรึเป้าฉางจี หวนเย่อู๋เป้ยเหมียน”มีความหมายว่า “ในฤดูร้อนต้องอดอยากอยู่เรื่อยเพราะขาดอาหาร ในคืนฤดูหนาวนอนหลับได้ยากเพราะขาดผ้าห่ม” แม้กระนั้น
เถ้ายวนหมิงก็ยังมีจิตใจสงบไม่สะทกสะท้าน ระยะนั้นเป็นช่วงเวลาที่เถายวนหมิงสร้างบทกวีมากที่สุด เขาได้ประพันธ์บทกวีพื้นบ้านเป็นจำนวนมาก ในบทกวีของเขา สภาพการดำรงชีวิตและทัศนียภาพในชนบทเป็นเป้าหมายแห่งความงามเป็นสิ่งแรก ในบทกวีพื้นบ้านของเถายวนหมิง สภาพชีวิตในชนบทได้เพิ่มเติมสีสันแห่งความงามและความบริสุทธิ์อย่างมาก เป็นแหล่งพักใจจากความทุกข์ในโลกแห่งความเป็นจริง
ชีวิตวัยชราของเถายวนหมิงยากจนและทุกข์ระทมมาก บางครั้งต้องไปขอทานหรือขอยืมอาหารเพื่อประทังไปวันๆ แต่แม้จะยากลำบากที่สุด เถายวนหมิงก็ยังปฏิเสธการเรียกเกณฑ์ของทางราชการอีกครั้งเพื่อหลีกหนีจากการเมืองและวงราชการ ในบทร้อยแก้วที่มีชื่อเสียงเด่นชื่อว่า “เถาฮวาหยวนจี้ปิ้นซือ”ที่เถายวนหมิงประพันธ์ขึ้นในวัยชรา
นั้นได้คิดฝันถึงสังคมยูโธเปียที่เต็มไปด้วยความผาสุก เล่าถึงชาวประมงคนหนึ่งที่หลงเข้าไปในบริเวณเถาหยวน พบเห็นคนกลุ่มหนึ่งใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น บรรพบุรุษของคนกลุ่มนี้ไปอาศัยอยู่ที่นั่นอย่างเงียบๆเพื่อหลบภัยสงคราม แล้วก็ไม่เคยออกจากบริเวณเถาหยวนเลยสักชั่วคน พวกเขาไม่รับรู้สภาพของโลกภายนอก ต่างก็ซื่อสัตย์จริงใจ พวกเขาขยันทำงาน มีชีวิตสันติที่ไร้ความกังวล บทร้อยแก้ว “เถาฮวาหยวนจี้ปิ้นซือ”เป็นภาพจินตนาการที่สวยงาม สะท้อนความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ของประชาชนในยุคสงครามที่ไฝ่หาสังคมสงบสุข
ผลงานบทกวีที่เถายวนหมิงเหลือตกทอดมาถึงชนรุ่นหลังมีเพียง 100 กว่าบทและบทร้อยแก้ว 10 กว่าบท แต่เถายวนหมิงมีบทบาทสำคัญยิ่งในประวัติวรรณคดีของจีน ในสมัยตงจิ้นที่เถายวนหมิงใช้ชีวิตอยู่นั้นเป็นช่วงเวลาที่ลัทธิรูปแบบได้รับการส่งเสริมและเผยแพร่ เวลาเขียนบทกวี ผู้เขียนส่วนมากต่างก็จงใจแสวงหาภาษาที่สวยหรูมาใช้ แต่เถายวนหมิงกลับสร้างบทกวีพื้นบ้านรูปแบบใหม่ บทกวีของเถายวนหมิงได้สืบทอดท่วงทำนองที่เรียบง่ายของบทกวีดั้งเดิมของจีน เปี่ยมไปด้วยพลังชีวิตแบบใหม่ บทกวีของเขาล้วนใช้ภาษาที่เรียบง่าย สดใสและรื่นหู บทกวีของเขาจึงเสมือนเป็นป้ายบอกระยะทางที่เป็นสัญญลักษณ์ในระดับสูงของผลงานบทกวีโบราณของจีน
4.ตู้ฝู่ “ปราชญ์แห่งกวี”
ในประวัติวรรณคดีจีน ผู้คนมักจะใช้คำว่า “หลี่ตู้”เป็นตัวแทนความสำเร็จสูงสุดของบทกวีสมัยราชวงศ์ถังของจีน “หลี่”หมายถึงหลี่ไป๋ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกว่าเป็น“เซียนแห่งกวี”ของจีน“ตู้”หมายถึงตู้ฝู่ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น“ปราชญ์แห่งกวี”ของจีน
ตู้ฝู่เกิดในปีค.ศ. 712 เป็นหลานชายของตู้เสินหยวน กวีผู้มีชื่อเสียง ตู้ฝู่เป็นคนเฉลียวฉลาดตั้งแต่เยาว์วัย เป็นคนขยัน ชอบศึกษา มีความรอบรู้ ตู้ฝู่สามารถแต่งบทกลอนได้ตั้งแต่อายุเพียง 7 ขวบ เมื่อเติบใหญ่ นอกจากเป็นกวีชื่อดังแล้ว เขายังเชี่ยวชาญในด้านอื่นๆด้วย อาทิ ศิลปะการเขียนตัวอักษรและภาพด้วยพู่กันจีน เล่นดนตรี ขี่ม้าและรำกระบี่
ตั้งแต่เป็นเยาวชน ตู้ฝู่ก็เป็นคนมีอุดมการณ์ เมื่ออายุได้ 19 ปีก็เริ่มออกท่องเที่ยวไปทั่วประเทศ ใช้ชีวิตตามสบาย ระยะนั้นเป็นช่วงเวลาที่ราชวงศ์ถังเจริญรุ่งเรืองที่สุด ตู้ฝู่ได้ท่องเที่ยวไปตามภูเขาและแม่น้ำที่มีชื่อเสียงหลายแห่งของจีน ช่วยให้เขาเปิดโลกทัศน์ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น และได้แต่งบืกวีที่มีชื่อเสียงโด่งดังมีถ้อยคำเป็นอมตะมาจนทุกวันนี้ นั่นก็คือ “ฮุ่ยตังหลิงเจวี๋ยติ่ง อี้หล่านจ้งซานเสี่ย”หมายความว่า “ยืนอยู่บนยอดภูเขาสูง แลเห็นทิวเขาเป็นเทือกเล็กอยู่เบื้องล่าง”
ตู้ฝู่ก็เหมือนปัญญาชนอื่น ๆ ส่วนมาก มุ่งหวังจะก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ และเคยใช้ความสามารถในการแต่งบทกวีไปคบหาสมาคมกับพวกเจ้าขุนมูลนาย เขาเคยเข้าร่วมการสอบคัดเลือกขุนนางระดับชาติ แต่ก็ประสบความล้มเหลวทุกครั้ง
ในวัยกลางคน ตู้ฝู่อาศัยอยู่ในกรุงฉางอาน ราชธานีของราชวงศ์ถัง มีชีวิตยากจนข้นแค้นมาก เขาเห็นหรูหราและสุรุ่ยสุร่ายของพวกเจ้าขุนมูลนายผู้ทรงอำนาจและสภาพที่คนจนต้องอดตายในท้องถนนเพราะขาดเครื่องนุ่งห่มและอาหารซึ่งเป็นภาพที่แสนเศร้าน่าเวทนา เขาจึงแต่งบทกวีบทหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์สภาพดังกล่าว ซึ่งก็คือ “จูเหมินจิ่วโร่วโช่ว ลู่โหย่วต้งสื่อกู่”แปลเป็นไทยว่า “ทวารแดงพะแนงเหล้าบูด ตามท้องถนนมีแต่โครงกระดูกของผู้ตายด้วยความหนาวและอด” ความล้มเหลวในวิถีชีวิตขุนนางและความทุกข์ยากของชีวิต ทำให้ตู้ฝู่ตระหนักถึงความเหลวแหลกเน่าเฟะของชนชั้นปกครองและความทุกข์ทรมานของประชาชน เขาจึงค่อยๆเปลี่ยนเป็นกวีที่เป็นห่วงชาติบ้านเมืองและประชาชน
ในปีค.ศ.755 ตู้ฝูมีอายุ 43 ปี เขามีโอกาสเป็นขุนนางตำแหน่งหนึ่ง แต่เป็นขุนนางอยู่ได้เพียงเดือนเดียว ราชวงศ์ถังก็เกิดภาวะปั่นป่วนเพราะสงคราม หลังจากนั้น ภัยสงครามก็ยืดเยื้อลุกลามต่อเนื่องไป ทำให้ตู้ฝู่ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ ผ่านประสบการณ์ชีวิตที่ลำบากจนโชกโชน ทำให้เขายิ่งตื่นตัวและเข้าใจความเป็นจริงของสังคมได้ลึกซึ้งขึ้น ในช่วงเวลานี้ ตู้ฝู่ได้แต่งบทกวีที่มีชื่อเสียงหลายต่อหลายบท อาทิ บท“สือหาวลี่” “ถงกวนลี่”“ซินอันลี่”“ซินฮุนเปี๋ย”“ฉุยเหล่าเปี๋ย”และ“อู๋เจียเปี๋ย” บทกวีเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเห็นอกเห็นใจอย่างสุดซึ้งของกวีที่มีต่อประชาชนและความเคียดแค้นของเขาที่มีต่อสงคราม
ค.ศ.759 ตู้ฝู่ผิดหวังอย่างสิ้นเชิงต่อการเมืองอย่างแท้จริง จึงลาออกจากการเป็นขุนนาง เวลานั้น กรุงฉางอานกำลังเกิดภัยแล้ง ตู้ฝู่ยากจนจนไม่สามารถเลี้ยงชีวิตครอบครัวต่อไปได้ เขาจึงพาครอบครัวลี้ภัยไปถึงเมืองเฉิงตูในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนฝูง ตู้ฝู่กับครอบครัวใช้ชีวิตในเมืองเฉิงตูอย่างเงียบสงบเป็นเวลา 4 ปี ในยามตกทุกข์ได้ยาก ตู้ฝู่ได้แต่งบทกวี “เหมาอูเหวยชิวเฟิงสั่วพั่วเกอ” เล่าถึงสภาพตกทุกข์ได้ยากของครอบครัวตน จากประสบการณ์ชีวิตของเขาทำให้ตู้ฝู่นึกถึงประชาชนทั่วไปที่มีชีวิตยากลำบากเช่นกัน ทำให้เกิดความใฝ่ฝันอยากจะมีบ้านพักอาศัยเป็นเรือนพันเรือนหมื่นห้องเพื่อขจัดความทุกข์ของประชาชนผู้ยากจนที่ไร้ที่พักอาศัย จนกระทั่งเกิดความคิดยินดีจะอุทิศตนถ้าแลกรอยยิ้มของประชาชนผู้ตกทุกข์ได้ยากมาได้ บทกวีของตู้ฝู่บทนี้เปี่ยมไปด้วยความจริงใจสุดซึ้ง สะท้อนให้เห็นจิตใจสูงส่งของกวีผู้นี้
ค.ศ.770 ตู้ฝู่เสียชีวิตระหว่างทางเร่ร่อนลี้ภัย ผลงานบทกวีของท่านที่เหลือไว้แก่ชนรุ่นหลังมีกว่า 1400 บท บทกวีของท่านสะท้อนถึงภาพรวมของสังคมในช่วงเวลากว่า 20 ปีที่ราชวงศ์ถังเกิดภัยสงคราม จากประเทศเข้มแข็งกลายเป็นประเทศอ่อนแอในที่สุด เป็นบทกวีเชิงประวัติศาสตร์ที่มีเนื้อหากว้างขวาง บทกลอนของตู้ฝู่มีรูปแบบหลากหลาย รับเอาจุดเด่นของกวีผู้อื่นมาปรับใช้เป็นของตน บทกวีของท่านมีเนื้อหากว้างขวางและลึกซึ้ง เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกจริงใจสุดซึ้ง ตู้ฝู่ยังได้ริเริ่มพัฒนาศิลปะการแต่งบทกลอนใหม่ ๆ และได้ขยายขอบเขตเนื้อหาและรูปแบบในการแต่งบทกลอนให้กว้างขวางออกไปอีกด้วย จนมีอิทธิพลอย่างมากต่อชนรุ่นหลัง
No comments:
Post a Comment