Sunday 24 March 2019

ใบความรู้ที่ 20 三星堆 หรือต่างดาวบุกโลกมานานแล้ว


ใบความรู้ที่ 20

อ.ไชยฉัตร โรจน์พลทามล 

三星堆 หรือต่างดาวบุกโลกมานานแล้ว
      ซานซิงตุย
               เมื่อกล่าวถึงซานซิงตุย(三星堆) หลายคนอาจไม่คุ้นเคยกับชื่อนี้นัก แต่สำหรับวงการโบราณคดีโลกและของจีนแล้ว ซานซิงตุยถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งโรจน์ทางประวัติศาสตร์ยุคโบราณอย่างหนึ่ง ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะโบราณวัตถุที่มีอายุนานนับหลายพันปีซึ่งขุดพบใต้ซากเมืองโบราณแห่งนี้มีส่วนช่วยให้การไขปริศนาอายุทางประวัติศาสตร์ของจีนมีความชัดเจนยิ่งขึ้น 

ราวช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 1929 ขณะที่เยียนเต้าเฉิง (燕道诚)ชาวนาคนหนึ่งกำลังขุดลำธารข้างบ้านพักที่อยู่ไกลจากเมืองก่วงฮั่น(广汉)มณฑลเสฉวน (四川省)ราว 3 - 4 กิโลเมตร เขาขุดพบภาชนะหยกที่มีความงดงามจำนวนหนึ่ง การค้นพบครั้งนั้นถือเป็นการเปิดศักราชให้นักโบราณคดีจีนเริ่มวิจัยอารยธรรมในยุคราชวงศ์ซาง(商代)จากวัตถุโบราณกลุ่มดังกล่าว ทว่า เหตุที่ทำให้ซานซิงตุยเริ่มกลายเป็นที่สนใจของคนทั่วโลกเป็นผลมาจากการขุดพบสุสานเซ่นไหว้ขนาดใหญ่ที่มีอายุอยู่ในยุคราชวงศ์ซางประมาณช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน ปี ค.ศ. 1986 ภาชนะสำริดส่วนมากที่ขุดพบมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป เช่น รูปมนุษย์ สัตว์ ต้นไม้นานาชนิด รูปหน้าคนและหน้ากาก ขณะที่รูปคนยืนและคุกเข่าเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงผู้ที่มาขอพรจากเทพเจ้าและผู้ประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ หน้ากากที่มีรูปหน้าสัตว์ซึ่งมีตาโปนและหน้ากากรูปสัตว์หน้าแบนเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงเทพเจ้าแห่งธรรมชาติที่ชาวสู่นับถือ ด้วยเหตุผลประการนี้เองที่ทำให้ซานซิงตุยเป็นที่รู้จักของชาวโลก จนถึงกับมีการขนานนามว่าเป็น “สิ่งมหัศจรรย์อันดับที่ 9 ของโลก” (世界第九大奇迹)เลยทีเดียว 

         ภาชนะสำริดที่ขุดพบจำนวนมากบริเวณสุสานซานซิงตุยโดยทั่วไปจะไม่มีข้าวของเครื่องใช้ปะปนอยู่ แต่จะเป็นของที่ใช้เซ่นไหว้เสียมากกว่า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงระบบทางศาสนาที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบของยุคอาณาจักรสู่โบราณ(古蜀国) เพราะวัตถุโบราณเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะเด่นของวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น โดยเฉพาะภาพแกะสลักเหมือน ไม้กระบอง เป็นต้น มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวัฒนธรรมของชนเผ่ามายา(玛雅人)และชาวอียิปต์โบราณ(古埃及人) นอกจากนี้ มีการขุดพบเปลือกหอยกว่า 5,000 ชิ้น หลังจากผ่านการทดสอบแล้วพบว่า เป็นเปลือกหอยที่มาจากแถบมหาสมุทรอินเดีย(印度洋)บางคนแสดงทัศนะว่า เปลือกหอยเหล่านี้ใช้ในการแลกเปลี่ยน ถือเป็นเงินตราต่างประเทศที่มีอายุเก่าที่สุดของมณฑลเสฉวน แต่ก็มีบางคนแสดงทัศนะว่าเป็นของเซ่นไหว้ที่หมอสอนศาสนาใช้ในการประกอบพิธี ยิ่งไปกว่านั้น ยังขุดพบงาช้างกว่า 60 งา กลายเป็นที่ถกเถียงของเหล่านักวิชาการว่าเป็นบรรณาการจากต่างชาติหรือเป็นงาช้างของท้องถิ่น ทั้งนี้ ยังขุดพบกระบองทองคำ(金杖)ซึ่งเชื่อกันว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลกภายใต้สุสานแห่งนี้อีกด้วย วัตถุโบราณที่กลายเป็นที่ถกเถียงของเหล่านักวิชาการก็คือ รูปสลักปลาและหัวคันศรน่าจะสื่อความหมายว่าอะไร เพราะตัวแปรที่ชี้ให้เห็นว่าชนเผ่าใดมีอารยธรรมก็คือ การประดิษฐ์อักษรขึ้นใช้ อย่างไรก็ดี การปรากฏอักษรบริเวณสุสานซานซิงตุย กลายเป็นที่ถกเถียงในหมู่นักประวัติศาสตร์จีนอีกประเด็นหนึ่งที่ยังหาคำตอบไม่ได้  ดังนั้น จึงไม่แปลกที่จะมีการถกเถียงว่า ลวดลายบนกระบองทองคำเป็นภาพหรือเป็นตัวอักษร

 
 


        ต่อมาในปี ค.ศ. 1980 นักโบราณคดีสามารถขุดพบซากเมืองโบราณแห่งนี้ได้ที่บริเวณเมืองหนานซิง(南兴)มณฑลเสฉวนทำให้พบว่าเมืองแห่งนี้มีกำแพงรอบด้านที่มีความยาวต่างกันคือ ด้านตะวันออกยาว 1,100 เมตร ด้านใต้ยาว 180 เมตร และด้านตะวันตกยาว 600 เมตรเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้น รอบซากเมืองโบราณแห่งนี้ประกอบด้วยห้องหับหลายแห่ง หลุมฝังศพ หลุมเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ฯลฯ ลักษณะของห้องที่พบมีทั้งรูปแบบกลม เหลี่ยมและเรียวยาว 3 ชนิด โดยมากมักสร้างด้วยโครงไม้ นับแต่ปี ค.ศ. 1931 เป็นต้นมา มีการขุดพบซากภาชนะเครื่องหยก(玉石器)และภาชนะสำริด(青铜器)จำนวนมากบริเวณหลุมเซ่นไหว้ ถือเป็นวัตถุโบราณล้ำค่าจำนวนมหาศาลที่มีคุณค่าทางโบราณคดี อาณาจักรสู่โบราณเจริญรุ่งเรืองนานกว่า 1,500 ปี แต่กลับหายวับไปกับตา กลายเป็นประเด็นที่หลายคนเกิดความสงสัยและไม่สามารถหาคำตอบได้ กระทั่งหลังจากนั้น 2,000 กว่าปี ชาวโลกจึงได้สัมผัสกับอาณาจักรเหล่านี้ เกี่ยวกับปริศนาการสูญหายของอาณาจักรแห่งนี้มีการตั้งสมมติฐานไว้หลายทฤษฎี ที่สำคัญได้แก่
ทฤษฎีอุทกภัย(水患说) เนื่องจากขุดพบซากสุสานซานซิงตุยใกล้กับทางตอนหนือของแม่น้ำยาจื่อ (鸭子河)ทั้งนี้มีแม่น้ำหม่ามู่(马牧河)พาดผ่านใจกลางเมือง ดังนั้น จึงมีนักวิชาการบางคนคิดว่า เหตุแห่งการอับปางของเมืองแห่งนี้เกิดจากน้ำป่าไหลหลาก แต่นักโบราณคดีกลับไม่พบซากการทับถมที่เกิดจากการซัดของน้ำหลากในครั้งนั้นเลย

ทฤษฎีสงคราม (战争说)ซากอาวุธที่ขุดพบแถบบริเวณสุสานโดยมากจะชำรุดและถูกไฟเผาจนเกรียม อย่างไรก็ดี ผลการตรวจสอบอายุของอาวุธเหล่านี้ทำให้ทราบว่าเป็นอาวุธที่ใช้กันในช่วงสองสามร้อยปีหลังจากนั้น

ทฤษฎีการอพยพ (迁徙说)ทฤษฎีดังกล่าวไม่ต้องการค้นหาหลักฐานเท่าใดนัก เพียงแต่ไม่ได้อธิบายเหตุผลการอพยพว่าเกิดจากสาเหตุใด เพราะที่ราบเสฉวนเป็นบริเวณที่มีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ ลักษณะดินคุณภาพดี อากาศมีอุณหภูมิพอเหมาะ ยากที่จะเกิดอุทกภัย

               นอกจากนี้ ยังมีปริศนาอื่นๆ อีกมากมาย อาทิเช่น แหล่งกำเนิดของอารยธรรมซานซิงตุยเกิดขึ้นในยุคสมัยใด เพราะรูปปั้นมนุษย์และรูปปั้นสัตว์ที่ทำจากสำริดล้วนไม่มีลักษณะของรูปปั้นสำริดที่พบแถบจงหยวน และไม่ปรากฏอักษรใดๆ บนรูปปั้นเหล่านี้ “มนุษย์ซานซิงตุย” (三星堆人)ที่ขุดพบมีจมูกโด่ง ตาลึก โหนกแก้มสูง ปากกว้าง ใบหูใหญ่ เจาะรูที่หู ดูคล้ายกับชาวต่างชาติมากกว่าชาวจีน นักโบราณคดีประจำสถาบันวิจัยโบราณคดีในมณฑลเสฉวนที่ชื่อเฉินเต๋ออาน(陈德安)แสดงทัศนะว่า ซากกระดูกที่ขุดพบนี้น่าจะไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศจีน แต่น่าจะเป็นอารยธรรมที่เกิดจากการผสานกันหลายแห่ง (杂交文明)

 
 



                  การค้นพบสุสานซานซิงตุยทำให้รู้จักวัฒนธรรมปาสู่ (วัฒนธรรมแถบที่ราบเสฉวนช่วงก่อนที่ราชวงศ์ฉินผนวกประเทศจีนเป็นหนึ่งเดียว) ครั้งใหม่ เพราะวัตถุโบราณที่ค้นพบทำให้รู้จักวัฒนธรรมปาสู่ที่แตกต่างไปจากเดิม มีบางแห่งถึงกับคลาดเคลื่อนจากที่หลายคนเคยเข้าใจ เช่น วงการประวัติศาสตร์ต่างเชื่อมาโดยตลอดว่า เมื่อเปรียบกับอาณาจักรจงหยวน(中原)แล้ว อาณาจักรปาสู่โบราณเป็นสถานที่ซึ่งปิดกั้นจากโลกภายนอกและมีการไปมาหาสู่กับอาณาจักรจงหยวนน้อยมาก แต่ซากวัตถุที่ขุดพบเป็นประจักษ์พยานว่า พื้นที่บริเวณสุสานน่าจะเคยเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมที่สำคัญของจีนราวช่วงราชวงศ์เซี่ย(夏代)คาบเกี่ยวกับราชวงศ์ซางหรืออาจมีอายุเก่าแก่กว่านั้น ร่องรอยการไปมาหาสู่พร้อมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับอาณาจักรจงหยวน ถือเป็นหลักฐานยืนยันความถูกต้องของบันทึกในเอกสารโบราณที่กล่าวถึงเรื่องราวของอาณาจักรปาสู่(巴蜀国) หรือที่ผ่านมาวงการประวัติศาสตร์คิดว่า พื้นที่แถบแม่น้ำฮวงโห(黄河流域)เป็นแหล่งกำเนิดของอารยธรรมจีน หลังจากนั้นจึงค่อยๆ แผ่ขยายไปยังดินแดนต่างๆ ของประเทศจีน การค้นพบสุสานซานซิงตุยทำให้สามารถทราบว่าอายุของประวัติศาสตร์จีนเก่าแก่กว่าที่เคยทราบมา และเป็นประจักษ์พยานว่าพื้นที่แถบแม่น้ำแยงซีเกียง(长江)และแถบแม่น้ำฮวงโห(黄河)ล้วนเป็นแหล่งกำเนิดของอารยธรรมจีนด้วยกันทั้งสิ้น และยังเน้นย้ำว่าอารยธรรมที่เกิดขึ้นบริเวณแม่น้ำแยงซีเกียงก็มีความเจริญรุ่งเรืองเช่นเดียวกับอารยธรรมของแม่น้ำฮวงโห ดังนั้น การค้นพบครั้งนี้จึงถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ทางประวัติศาสตร์จีนจากข้อมูลที่เคยทราบมา

         ยิ่งไปกว่านั้น การค้นพบในยุคใกล้ๆ นี้ ทำให้ทราบว่า ซากวัตถุโบราณที่สำคัญกระจัดกระจายอยู่แถบหมู่บ้านต้าเจียงซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของชายฝั่งแม่น้ำยาจื่อเรื่อยไปถึงทางตอนบนของแม่น้ำหลินซึ่งตั้งห่างออกไปทางตะวันตกของหมู่บ้านเกาเจียน ขณะที่ซากวัตถุโบราณที่แฝงไว้ด้วยข้อมูลทางวัฒนธรรมกระจุกตัวอยู่แถบหมู่บ้านซานซิงชายฝั่งตอนใต้ของแม่น้ำหม่ามู่ โดยมีศูนย์กลางกระจายอยู่ที่หมู่บ้านเจินอู่และหมู่บ้านซานซิง

               ซากวัตถุโบราณที่สามารถค้นพบบริเวณซานซิงตุยแฝงไว้ด้วยวัฒนธรรม 2 ชนิดที่มีความแตกต่างกันและมีความสัมพันธ์แบบวัฒนธรรมแม่และวัฒนธรรมลูก โดยชนิดแรกมีอายุเก่าแก่หรือเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมซานซิงตุยระยะแรก มีอายุราววัฒนธรรมหลงซาน(龙山时代)แถบที่ราบจงหยวน ส่วนชนิดที่สองมีอายุหลังจากนั้น มีชื่อเรียกว่าวัฒนธรรมซานซิงตุยระยะที่ 2 – 4 หรือวัฒนธรรมที่พบบริเวณผิวดินชั้นบนของเขตที่ขุดพบ มีอายุคาบเกี่ยวระหว่างราชวงศ์เซี่ยเรื่อยไปถึงช่วงปลายราชวงศ์ซางหรืออาจมีอายุเก่าแก่ถึงราชวงศ์โจวตอนต้น(周初期)เลยทีเดียว

               อาณาจักรสู่โบราณตั้งอยู่ทางพรมแดนด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ประวัติศาสตร์ของอาณาจักรสู่นอกจากจะมีบันทึกในอักษรกระดองเต่า(甲骨文)และหนังสือประวัติศาสตร์ซ่างซู

(尚书)แล้ว การไปมาหาสู่ระหว่างอาณาจักรแห่งนี้กับแผ่นดินจงหยวนเริ่มปรากฎให้เห็นราวยุคจ้านกว๋อ(战国) หากแต่วัฒนธรรมสำริดของอาณาจักรสู่ในยุคชุนชิว-จ้านกว๋อกลับเป็นที่รู้จักราวทศวรรษที่ 30 การค้นพบอารยธรรมสำริดจากซากวัตถุโบราณแถบซานซิงตุยทำให้สามารถคำนวณถึงอายุของอารยธรรมสู่โบราณ(古蜀文明)ได้เก่าแก่กว่า 1,000 ปี เป็นการเพิ่มเติมข้อมูลในการศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอาณาจักรสู่โบราณให้กับนักโบราณคดีในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก

               กล่าวโดยสรุปว่า ประโยชน์ที่สำคัญประการหนึ่งจากการขุดพบซากโบราณวัตถุแถบสุสานซานซิงตุยทำให้ทราบว่า ครั้งหนึ่งดินแดนแถบที่ราบเสฉวนเคยเป็นศูนย์กลางทางอารยธรรมโบราณที่คาบเกี่ยวตั้งแต่สังคมจีนยุคบรรพกาล เรื่อยไปจนถึงการสถาปนาตนขึ้นเป็นอาณาจักร ดังนั้น จึงมีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยเรียกสิ่งที่ขุดพบในครั้งนั้นว่าเป็น “อารยธรรมซานซิงตุย” (三星堆文明)ลักษณะโดดเด่นที่สุดของอารยธรรมนี้คือการสรรสร้างวัฒนธรรมที่มีจิตวิญญาณสูงสุด สะท้อนให้เห็นถึงความสมบูรณ์แบบของระบบความเชื่อทางศาสนาในหมู่ชาวจีนยุคบรรพกาล


ที่มา : pantip

แล้วอย่าลืมแวะอ่าน เผยเทคนิคพิเศษ ปั้นเพชร HSK Level 1 
ติดตามเพิ่มได้ที่ https://www.facebook.com/guanlaoshi/

หนังสือดี ที่ต้องอ่าน

No comments:

Post a Comment