Thursday 21 March 2019

ใบความรู้ที่ 8 ราชวงค์ต่างๆของจีน


ใบความรู้ที่ 8  

อ.ไชยฉัตร โรจน์พลทามล 

ราชวงค์ต่างๆของจีน

1.ราชวงศ์เซี่ย-ราชวงศ์แรกในประวัติศาสตร์ของจีน
       ราชวงศ์เซี่ยเป็นราชวงศ์แรกในประวัติศาสตร์จีน อยู่ระหว่างประมาณศตวรรษที่21-16ก่อนค.ศ. มีกษัตริย์14ชั่ว17องค์ กินเวลาประมาณ500ปี ศูนย์กลางการปกครองของราชวงศ์เซี่ยอยู่ที่บริเวณภาคใต้ของมณฑลซันซีและภาคตะวันตกของมณฑลเหอหนานในปัจจุบัน

       พระเจ้าอวี่ ผู้สถาปนาของราชวงศ์เซี่ยเป็นวีรบุรุษที่แก้ปัญหาแม่น้ำล้นหลากและสร้างความสงบให้ประชาชน เล่ากันว่าเพราะ เขาได้แก้ปัญหาแม่น้ำเหลืองที่เคยเกิดอุทกภัยบ่อยครั้งจนสำเร็จจึงเป็นที่ยกย่องสนับสนุนจากประชาชน ในที่สุดก็สถาปนาราชวงศ์เซี่ยขึ้น การสถาปนาราชวงศ์เซี่ยนั้นนับเป็นสัญลักษณ์ที่สังคมกรรมสิทธิ์ได้เข้ามา แทนที่สังคมดึกดำบรรพ์ที่ดำเนินมาเป็นเวลานาน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จีนก็ได้พัฒนาเข้าสู่สังคมระบอบทาส

       ช่วงปลายของสมัยราชวงศ์เซี่ย การเมืองมีความวุ่นวาย ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนับวันรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาพระเจ้าเซี่ยเจี๊ยะ กษัตริย์สุดท้ายของเซี่ยเมื่อขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน ก็ไม่สนใจบริหารประเทศ เย่อหยิ่งฟุ่มเฟือยใช้ชีวิตเละเทะ ใช้เงินเป็นเบี้ย พระเจ้าเซี่ยเจี๊ยะเอาแต่เสวยน้ำจัณฑ์สนุกสนานกับพระสนมคนโปรดชื่อเม่ยสี  ไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากลำบากของประชาชน ถ้าขุนนางผู้ใหญ่ทูลทัดทาน  พระองค์ก็ประหารขุนนางผู้ใหญ่เหล่านั้นเสีย ด้วยเหตุนี้ นครรัฐต่างๆในราชวงศ์เซี่ยก็พากันเป็นกบฏ นครรัฐซังที่ขึ้นกับราชวงศ์เซี่ยก็ถือโอกาสโจมตีเซี่ยจนทำให้เซี่ยแตก พ่าย  พระเจ้าเซี่ยเจี๊ยะหนีออกจากเมืองหลวงในที่สุดก็สิ้นพระชนม์ที่เมืองหนานเฉา  ราชวงศ์เซี่ยจึงสิ้นสุดลง

      ปัจจุบัน ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับราชวงศ์เซี่ยน้อยมาก ในประวัติศาสตร์จีนมีราชวงศ์เซี่ยจริงหรือไม่นั้น วงการวิชาการก็สรุปไม่ได้ แน่นอน แต่หนังสือสือจี้ เซี่ยเปิ่นจี้ซึ่งเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของจีนได้บันทึกระบบสืบช่วงวงศ์กษัตริย์ของราชวงศ์เซี่ยไว้ชัดเจน นักโบราณดคีก็หวังอย่างยิ่งว่าจะใช้วิธีการทางโบราณคดีค้นหาพยานหลักฐานของวัฒนธรรมทางวัตถุสมัยราชวงศ์เซี่ยเพื่อพิสูจน์ประวัติศาสตร์ราชวงศ์เซี่ย ตั้งแต่ปีค.ศ.1959เป็นต้นมา วงการโบราณคดีของจีนเริ่มสำรวจซากโบราณวัตถุเซี่ยเป็นการเปิดฉากค้นหาวัฒนธรรมราชวงศ์เซี่ย ปัจจุบัน นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่า ซากวัตถุโบราณเอ้อหลี่โถวในเมืองเอี้ยนซือของมณฑลเหอหนานขึ้นชื่อว่าเป็นวัฒนธรรมเอ้อหลี่โถวเป็นสถานที่เป้าหมายสำคัญที่สุดที่ต้องค้นหาวัฒนธรรมของราชวงศ์เซี่ย ตามการตรวจสอบ เวลาก่อรูปขึ้นของซากวัตถุโบราณแห่งนี้อยู่ในช่องประมาณปี1900ก่อนค.ศ.ซึ่งน่าจะตรงกับสมัยราชวงศ์เซี่ย ปัจจุบัน แม้จะยัง ค้นไม่พบพยานหลักฐานโดยตรงที่สามารถสรุปได้ว่าซากวัตถุโบราณแห่งนี้เป็นวัฒนธรรมของราชวงศ์เซี่ยก็ตาม แต่ข้อมูลสมบูรณ์ที่ค้นพบจากสถานที่แห่งนี้มีส่วนทำให้งานค้นหาวัฒนธรรมของราชวงศ์เซี่ยก้าวหน้ายิ่งขึ้น

        เครื่องมือการผลิตที่ค้นพบที่ซากเอ้อหลี่โถวยังคงเป็นเครื่องมือหินเป็น หลัก   เครื่องมือกระดูกและเขาสัตว์และเครื่องมือเปลือกหอย   บนฐานรากของบ้านเรือน เตียงดินและผนังของสุสานได้ค้นพบรอยขุดดินด้วยเครื่องมือที่ทำจากไม้ ประชาชนในสมัยนั้นใช้ความขยันหมั่นเพียรและสติปัญญาของตน ปรับพื้น ฐานทำการเพาะปลูกด้วยเครื่องมือที่ค่อนข้างล้าหลัง แม้จนถึงปัจจุบันจะ ยังไม่เคยค้นพบเครื่องทองสัมฤทธิ์ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ในซากปรักหักพังสมัยราชวงศ์เซี่ยก็ตาม แต่เคยค้นพบเครื่องมือ อาวุธและภาชนะที่ทำด้วยทองสัมฤทธิ์ชนิดต่างๆเช่น มีด สว่าน ขวานมือ สิ่ว ลั่ม ง้าว ภาชนะใส่เหล้าดื่มเป็นต้น นอกจากนี้ยัง ค้นพบซากโบราณของเตาเผาหล่อทองสัมฤทธิ์  ค้นพบแม่พิมพ์หล่อเครื่องทองสัมฤทธิ์ที่ทำด้วยดินเผา กากทองสัมฤทธิ์และเศษหม้อสำหรับหล่อทองสัมฤทธิ์ นอกจาก นี้ยังค้นพบเครื่องหยกที่มีเทคนิคผลิตค่อนข้างสูงจำนวนมาก มีเครื่องประดับที่ฝังอัญมณี ยังมีเครื่องดนตรีชนิดต่างๆเช่นฉิ่งหินเป็นต้น เทคนิคการผลิตหัตถกรรมและการจัดงานภายในได้พัฒนาไปอีกขึ้นหนึ่ง

        ในด้านการบันทึกภาษาโบราณ สิ่งที่น่าสังเกตที่สุดก็คือปฎิทินของราชวงศ์เซี่ย บทความเรื่องเซี่ยเสี่ยวเจิ้งในหนังสือต้าไต้หลี่จี้ก็เป็นหนังสือสำคัญเกี่ยวกับปฎิทินเซี่ยที่มีอยู่ในปัจจุบัน แสดงว่า ผู้คนในสมัยนั้นสามารถกำหนดเดือนด้วยทิศทางของดาวไถ ปฎิทินเซี่ยนับเป็นปฎิทินที่โบราณที่สุดของจีน บทความเรื่องเซี่ยเสี่ยวเจิ้งได้บันทึกปรากฎการณ์ของดวงดาว ปรากฎการณ์ทางอุตุนิยมวิทยาและปรากฎการณ์ของสรรพสิ่งตลอดจนกิจการทางการเกษตรและการเมืองที่ผู้คนควรจะต้องทำตามลำดับ12เดือนในปฎิทินเซี่ย ปฎิทินเซี่ยได้แสดงระดับการผลิตทางการเกษตรของราชวงศ์เซี่ยและบันทึกความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่โบราณที่สุดและค่อนข้างมีค่าของจีน

2.ราชวงศ์ซัง-ราชวงศ์โบราณที่สุดของจีนที่มีบันทึกทางประวัติศาสตร์
       วงการประวัติศาสตร์ของจีนมักจะเห็นว่าราชวงศ์เซี่ยเป็นราชวงศ์ที่ โบราณที่สุดของจีน แต่ข้อมูลเกี่ยวกับราชวงศ์เซี่ยส่วนใหญ่เป็นบันทึกในหนังสือยุคหลังทั้งสิ้น จนถึงปัจจุบันก็ยังค้นไม่พบพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือทางโบราณคดี ส่วนราชวงศ์แรกที่มีพยานหลักฐานที่เชื่อถือได้และได้จากการค้นพบทางโบราณคดีของจีนก็คือราชวงศ์ซัง

       ราชวงศ์ซังสถาปนาขึ้นประมาณศตวรรษที่16ก่อนค.ศ. สิ้นสุดลงเมื่อศตวรรษที่ 11ก่อนค.ศ. กินเวลาประมาณ600ปี ช่วงแรกราชวงศ์ซังเคยย้ายเมืองหลวงหลายครั้ง ในที่สุดได้ตั้งเมืองหลวงขึ้นที่กรุงยิน(บริเวณเมืองอันหยางของมณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) พยานหลักฐานทางโบราณดคีพิสูจน์ได้ว่า ในช่วงราชวงศ์ซัง อารยธรรมจีนได้พัฒนาไปถึงระดับสูงพอสมควร สัญลักษณ์ที่สำคัญคือ ตัวอักษรโบราณที่สลักไว้บนกระดองเต่าหรือกระดูกสัตว์และวัฒนธรรมทองสัมฤทธิ์

        การค้นพบตัวอักษรโบราณบนกระดองเต่าหรือกระดูกสัตว์นั้นเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญมาก เมื่อต้นศตวรรษที่20 ชาวหมู่บ้านเสี่ยวถุนทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองอันหยางมณฑลเหอหนานเอากระดองเต่าและกระดูกสัตว์ที่เก็บได้มาขายเป็นยาแผนโบราณจีน มีนักวิชาการได้พบเห็นโดยบังเอิญ จึงรู้ว่าบนกระดองและกระดูกเหล่านี้สลักตัวอักษรโบราณไว้ และใช้ความพยายามค้นหา ไม่นานนัก นักวิชาการด้านตัวอักษรโบราณของจีนก็ได้ข้อสรุปอย่างแน่นอนว่า ตัวอักษรเหล่านี้เป็นตัวอักษรของราชวงศ์ซัง และก็ได้ลงความเห็นว่าหมู่บ้านเสี่ยวถุนก็คือที่ตั้งของกรุงยินเมืองหลวงเก่าของราชวงศ์ซัง

       การค้นพบและขุดค้นของกรุงยินนั้นเป็นการค้นพบทางโบราณคดีที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่20ของจีน ตั้งแต่ปีค.ศ.1928ที่เริ่มขุดค้นเป็นต้นมา ได้พบโบราณวัตถุที่มีค่าจำนวนมากซึ่งรวมทั้งตัวอักษรกระดองเต่ากระดูกสัตว์ และเครื่องทองสัมฤทธิ์ ตัวอักษรกระดองเต่าและกระดูกสัตว์เป็นตัวอักษรโบราณที่สลักไว้บนกกระดองเต่าและกระดูกสัตว์ ในสมัยราชวงศ์ซัง ไม่ว่ากษัตริย์จะทรงทำเรื่องใดก็จะต้องเสี่ยงทายก่อนเสมอ กระดองเต่าและกระดูกสัตว์เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการเสี่ยงทาย

       ปัจจุบัน ได้ค้นพบกระดองเต่าและกระดูกสัตว์ที่เมืองยินเก่าเป็นจำนวนกว่า 160000ชิ้น ในจำนวนนี้ บางชิ้นยังมีสภาพสมบูรณ์ บางชิ้นเหลือแต่เศษที่มีไมกี่ตัวอักษร ตามสถิติ ตัวอักษรชนิดต่างๆบนกระดองเต่าและกระดูกสัตว์เหล่านี้มีจำนวนกว่า4000ตัว ในจำนวนนี้ นักวิชาการศึกษาวิจัยได้ประมาณ3000ตัว มีจำนวนกว่า1000ตัวที่นักวิชาการเห็นเป็นเอกฉันท์ ส่วนที่เหลือบ้างก็ยากที่จะอ่านออก บ้างก็มีความเห็นแย้งกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านการศึกษาวิจัยตัวอักษรโบราณจำนวนกว่าพันตัวนี้ คนปัจจุบันก็สามารถรับทราบสภาพต่างๆในสมัยนั้นเช่นการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของราชวงศ์ซังอย่างคร่าวๆ

        เช่นเดียวกับกระดองเต่าและกระดูกสัตว์ที่สลักตัวอักษร เครื่องทองสัมฤทธิ์ก็เป็นโบราณวัตถุที่เป็นเอกลักษณ์พิเศษของ ราชวงศ์ซัง เทคนิคการถลุงเครื่องทองสัมฤทธิ์ของราชวงศ์ซังได้พัฒนาถึงระดับสูง พอสมควรแล้ว เครื่องทองสัมฤทธิ์ที่ค้นพบบริเวณเมืองยินเก่ามีจำนวนหลายพันชิ้น ในจำนวนนี้ มีติ่งสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ภาชนะที่ใช้สำหรับหุงหาอาหารซือหมู่อู้ที่ค้น พบที่ซากวัตถุโบราณยินในปีค.ศ.1939 มีน้ำหนักถึง875กิโลกรัม สูง1.33เมตร ยาว1.1เมตรและกว้าง0.78เมตร มีรูปแบบสง่างาม เป็นผลงานยอดเยี่ยมของวัฒนธรรมเครื่องทองสัมฤทธิ์ในสมัยโบราณ ของจีน

        การขุดค้นทางโบราณคดีและการวิจัยทางศึกษาวิชาการพิสูจน์ว่า ในสมัยราชวงศ์ซัง มีประเทศเกิดขึ้นแล้ว ระบอบกรรมสิทธิ์ก็ได้กำหนดขึ้น ตั้งแต่สมัยนี้เป็นต้นมา จีนก็ได้พัฒนาเข้าสู่สมัยอารยธรรม

3.ราชวงศ์ฉิน-ราชวงศ์ศักดินาแรกของจีน
     ในปี221ก่อนค.ศ. หลังจากได้ผ่านสังคมระบอบทาสที่ดำเนินมานานกว่า2000ปีแล้ว ราชวงศ์ฉินซึ่งเป็นราชวงศ์ศักดินา มีระบอบรวมศูนย์อำนาจรัฐเป็นเอกภาพราชวงศ์แรกได้สถาปนาขึ้น มีความหมายสำคัญเป็นพิเศษต่อประวัติศาสตร์ของจีน
      ในช่วงระหว่างปี255-222ก่อนค.ศ. เป็นสมัยจั้นกั๋วของจีน และเป็นช่วงปลายของสังคมระบอบทาสของจีน ในสมัยนั้น จีนมีก๊กเล็กก๊กน้อยที่เป็นอิสระจำนวนมาก  ก๊กเหล่านี้กลืนกิน ในที่สุด เหลือแต่ก๊กที่ค่อนข้างใหญ่ทั้งหมด7ก๊กซึ่งถูกเรียกกันว่าชีสง(เจ็ดผู้ยิ่งใหญ่)ได้แก่ ฉิน ฉี ฉู่ เว่ย เอียน หานและเจ้า ในบรรดา7ก๊ก ก๊กฉินที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือได้ดำเนินการปฎิรูปทางการทหารและการเกษตรค่อนข้างเร็ว กำลังประเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วใน ปี247ก่อค.ศ.  หยิงเจิ้งผู้มีอายุเพียง13ปีได้รับช่วงตำแหน่งเจ้าก๊กฉิน เมื่อ พระองค์มีพระชนม์มายุครบ22ปีและเข้าบริหารประเทศแล้ว ก็เริ่มกลืนอีก6ก๊กและรวมจีนเป็นเอกภาพ เจ้าก๊กฉินอิ๋งเจิ้งระดมหาบุคลากรอย่างกว้างขวาง ขอเพียงแต่เป็นผู้ที่มีความสามารถก็จะมีโอกาสได้รับเป็นข้าราชการ ทั้งสิ้น อาทิ เคยแต่งตั้งให้เจิ้งกั๋วผู้เป็นจารชนของก๊กหานไปขุดลอกคูคลองส่งน้ำเจิ้งกั๋ว” จนทำให้ที่ดินที่มีสารเกลือมากจำนวนกว่า40000เฮกตาร์ของก๊กฉินกลายเป็นที่นาที่อุดมสมบูรณ์เกิดเป็นปัจจัยทางวัตถุที่เพียงพอแก่การรวมจีนเป็นเอกภาพของก๊กฉิน ในช่วงเวลาไม่ถึง10ปีตั้งแต่ปี230-221ก่อนค.ศ. เจ้าก๊กฉินหยิงเจิ้งได้กลืนก๊กหาน เจ้า เว่ย เอียน ฉู่และฉีทั้งหมด6ก๊กตามลำดับและรวมจีนเป็นเอกภาพสำเร็จ จีนก็ สิ้นสุดสภาพการแบ่งแยก และมีราชวงศ์ฉินที่เป็นเอกภาพและใช้ระบอบรวมศูนย์อำนาจรัฐทางเผด็จการ เจ้าก๊กฉินก็กลายเป็นจักรพรรดิองค์แรกของจีน เรียกว่าสื่อหวงตี้หรือจิ๋นซีฮ่องเต้หมายความว่าจักรพรรดิองค์แรก

       การที่ฉินรวมจีนเป็นเอกภาพได้นั้นนับเป็นคุณูปการและมีความหมายยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์จีน ในด้านการเมือง จิ๋นซีฮ่องเต้ได้ยกเลิกระบบแต่งตั้งเจ้าประเทศราชผู้ครองแคว้น กลับใช้ระบบจังหวัดและอำเภอ แบ่งทั่วประเทศเป็น36จังหวัด จังหวัดแบ่งเป็นอำเภอ ข้าราชการของรัฐบาลกลางและหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นล้วนแต่งตั้งและถอดถอนโดยองค์จักรพรรดิเอง ไม่มีการสืบต่อทางวงศ์ตระกูล ระบบจังหวัดและอำเภอที่ราชวงศ์ฉินเริ่มใช้ในสมัยนั้นได้กลายเป็นระบบปกครองของราชวงศ์ต่างๆในยุคหลัง ปัจจุบัน ชื่อของอำเภอจำนวนมากของจีนก็เริ่มกำหนดโดยราชวงศ์ฉินเมื่อกว่า2000ปีก่อน

      ส่วนผลงานสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของฉินก็คือได้รวมตัวหนังสือของจีนให้เหลือเพียงแบบเดียว ก่อนราชวงศ์ฉิน ก๊กต่างๆต่างก็มีตัวหนังสือของตน แม้ตัวหนังสือเหล่านี้จะมีแหล่งที่มาเดียวกันและไม่แตกต่างในด้านการสะกดนักก็ตาม แต่ก็ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการแพร่ขยายและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม หลังจากฉินรวมจีนเป็นเอกภาพแล้ว ได้กำหนดให้ตัวหนังสือเสี่ยวจ้วนของก๊กฉินเป็นตัวหนังสือที่ใช้ทั่วประเทศ หลังจากนั้น การเปลี่ยนแปลงตัวหนังสือจีนเริ่มมีระเบียบ ซึ่งมีความหมายชนิดที่ไม่อาจประเมินค่า ได้ต่อการก่อรูป ของประวัติศาสตร์จีนและการสืบทอดวัฒนธรรมจีน

        นอกจากนี้ จิ๋นซีฮ่องเต้ยังได้กำหนดมาตราชั่งตวงวัดของจีนให้เป็นเอกภาพ เช่นเดียวกับตัวหนังสือ ก่อนหน้านี้ มาตราชั่งตวงวัดของก๊กต่างๆมีความแตกต่างกัน เป็นอุปสรรคกีดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตราชั่งตวงวัด จิ๋นซีฮ่องเต้ยังได้กำหนดเงินตราและกฎหมายเพื่อสร้างเงื่อนไขแก่การเติบโตของเศรษฐกิจประชาชาติ ทั้งได้เสริมสร้างฐานะของรัฐบาลกลางอย่างมาก

        เพื่อเสริมสร้างการปกครองในด้านความคิด เมื่อปี213ก่อนค.ศ. จิ๋นซีฮ่องเต้ได้สั่งการให้เผาหนังสือประวัติศาสตร์ของก๊กต่างๆนอกจากประวัติศาสตร์ของก๊กฉินและทฤษฎีของลัทธิเต๋า และถึงกับประหารชีวิตผู้คนที่แอบเก็บและแพร่กระจายหนังสือเหล่านี้ พร้อมกันนี้ เพื่อป้องกันการรุกรานจากรัฐของชนชาติส่วนน้อยในภาคเหนือ จิ๋นซีฮ่องเต้ได้สั่งการให้บูรณะซ่อมแซมกำแพงที่ก๊กฉิก๊กเจ้าและก๊กเอียนในอดีตเป็นต้นก่อสร้างขึ้น  เชื่อมต่อเป็นกำแพงเมืองจีนหมื่นลี้ตั้งแต่ทะเลทรายทางตะวันตกไปสู่ริมฝั่งทะเลทางตะวันออก ฉิ๋นซีฮ่องเต้ยังได้สั่งการก่อสร้างเป็นการใหญ่ เกณฑ์ชาวบ้านจำนวนกว่า7แสนคน และลงทุนจำนวนมหาศาลก่อสร้างสุสาน ตั้งอยู่ใต้ภูเขาหลีซัน เป็นสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้และหุ่นทหารกับม้าซึ่งเป็นมรตกทางวัฒนธรรมของโลกในปัจจุบัน

       จิ๋นซีฮ่องเต้รวมจีนเป็นเอกภาพ สิ้นสุดสภาพแบ่งแยกกันเป็นเวลายาวนานของจีน สถาปนาประเทศศักดินาหลายชนชาติที่เข้มแข็งเกรียงไกรโดยมีชนชาติฮั่นเป็นองค์ประกอบสำคัญ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ประวัติศาสตร์ของจีนก็ก้าวหน้าสู่ยุคใหม่

  4.ราชวงศ์ฮั่น
       ช่วงเวลาตั้งแต่ปี206ก่อนค.ศ.จนถึงปีค.ศ.8เป็นสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก จักรพรรดิฮั่งเกาจู่ชื่อหลิวปังสถาปนาราชวงศ์ฮั่นและตั้งเมืองหลวงที่กรุงฉางอัน(เมืองซีอันในปัจจุบัน)

      ในช่วงเวลา7ปีที่จักรพรรดิฮั่นเกาจู่ครองราชย์ ได้เสริมสร้างการปกครองรวมศูนย์อำนาจรัฐ กำหนดนโยบายทางการเมืองที่ผ่อนภาระหน้าที่ ประชาชนจำนวนหนึ่งเพื่อเสริมสร้างการปกครองของตนให้มั่นคง ในปี159ก่อนค.ศ. จักรพรรดิฮั่นเกาจู่ถึงแก่สวรรคต จักรพรรดิฮั่นฮุ่ยตี้รับช่วงตำแหน่งจักรพรรดิต่อ แต่ขณะนั้น อำนาจตกอยู่ในมือของพระนางลวี่จื้อพระมเหสีของจักรพรรดิฮั่นเกาจู่ พระมเหสีลวี่จื้อได้ครองอำนาจอยู่นาน16ปี นับเป็นผู้ปกครองหญิงในประวัติศาสตร์จีนที่มีเพียงไม่กี่คน ในปี183ก่อนค.ศ. จักรพรรดิฮั่นเหวินตี้รับช่วงตำแหน่งจักรพรรดิต่อมา จักรพรรดิฮั่นเหวินตี้และจักรพรรดิฮั่งจิ่งตี้(ปี156-143ก่อนค.ศ.)ผู้เป็นโอรสยังคงดำเนินนโยบาย ผ่อนภาระหน้าที่ประชาชนต่อไป ลดภาษีอากรของประชาชนให้น้อยลง ทำให้เศรษฐกิจของราชวงศ์ฮั่นเจริญเติบโตขึ้น นักประวัติศาสตร์เรียกช่วงเวลานี้ว่าเป็นช่วงเจริญรุ่งเรืองยุคเหวิน-จิ่ง

          หลังจากช่วงเจริญรุ่งเรืองยุคเหวิน-จิ่ง” แล้วราชวงศ์ฮั่นมีกำลังที่เข้มแข็งเกรียงไกรขึ้นเรื่อยๆ  ในปี141ก่อนค.ศ. จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้รับช่วงตำแหน่งจักรพรรดิ ฮั่นอู่ตี้ได้ส่งนายพลเว่ยชิงและนายพลฮั่วชวี่ปิ้งพาทหารไปโจมตีพวก ซงหนูจนแตกพ่าย ได้ขยายขอบเขตการปกครองของฮั่นตะวันตกให้กว้างขวางขึ้น เป็น หลักประกันแก่การพัฒนาเศรษฐกิจและวัฒนธรรมทางภาคเหนือของฮั่นตะวันตก หลังจากนั้น จักรพรรดิฮั่นเจาตี้ส่งเสริมให้พัฒนาเศรษฐกิจต่อไปจนทำให้ฮั่นตะวันตกพัฒนาไปถึงช่วงที่เจริญรุ่งเรืองที่สุด

         หลังจาการปฎิบัติตามนโยบายผ่อนภาระหน้าที่ ประชาชน เป็นเวลานานถึง38ปีในรัชกาลฮั่นเจาตี้และฮั่นซวนตี้ กำลังประเทศของฮั่นตะวันตกมีความเข้มแข็งมากขึ้น แต่ในเวลาเดียวกัน อิทธิพลท้องถิ่นก็พัฒนาเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆเช่นกันซึ่งคุกคามการปกครองของราชวงศ์ฮั่นตะวันตกอย่างรุนแรง เมื่อปีค.ศ.8  หวางหมางได้ช่วงชิงตำแหน่งจักรพรรดิและเปลี่ยนชื่อเป็นราชวงศ์ซิน  สิ้นสุดการปกครองของราชวงศ์ฮั่นตะวันตก

          ราชวงศ์ฮั่นตะวันตกเป็นราชวงศ์ที่ค่อนข้างเข้มแข็งเกรียงไกรในประวัติศาสตร์จีน ทุกรัชกาลปฎิบัติตามนโยบายที่  ผ่อนภาระหน้าที่ประชาชน มาโดยตลอด ประชาชนกินดีอยู่ดี อยู่เย็นเป็นสุข การปกครองของฮั่นตะวันตกจึงมีความมั่นคงตลอดมา จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ได้ปฎิบัติตามข้อเสนอที่ให้ยกเลิกความคิดอื่นๆ ส่งเสริมยกย่องแต่สำนักขงจื๊ออย่างเดียวที่ต่งจงซูเสนอ  ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ลัทธิขงจื๊อและสำนักปรัชญาขงจื๊อกลายเป็นความคิดที่ราชวงศ์ต่างๆสมัยหลังราชวงศฮั่นได้ยึดถือปฎิบัติตามตลอดมา

         เนื่องจากการเมืองและเศรษฐกิจมีความมั่นคง หัตถกรรม การพาณิชย์ ศิลปะตลอดจนวิทยาศาสตร์ต่างพัฒนาไปอย่างมาก เมื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาสูงขึ้น ประสิทธิภาพการผลิตทางหัตถกรรมสมัยราชวงศ์ฮั่น ตะวันตกการถลุงโลหะและการผลิตสิ่งทอก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก  การพัฒนาหัตถกรรมได้ส่งเสริมให้การพาณิชย์คึกคักขึ้นเรื่อยๆ และได้บุกเบิกการแลกเปลี่ยนซื้อขายในด้านต่างๆเช่นการติดต่อกับต่างประเทศและการค้ากับประเทศเอเซียตะวันตกต่างๆด้วยเส้นทางสายไหม

          ช่วงเวลาตั้งแต่ค.ศ.25 จนถึงค.ศ.220เป็นราชวงศ์ฮั่นตะวันออก จักรพรรดิฮั่นกวางอู่ตี้พระนามหลิวซิ่วสถาปนาขึ้นใน
           ปีค.ศ.25 นายหลิวซิ่วได้โจมตีจักรพรรดิหวางหมางจนแตกพ่าย ด้วยการสนับสนุนจากกองทหารลู่หลินซึ่งเป็นกองทหารชาวนา และช่วงชิงตำแหน่งจักรพรรดิกลับคืน เปลี่ยนชื่อราชวงศ์เป็นฮั่นอีกครั้งแต่ตั้งเมืองหลวงที่กรุงลั่วหยาง ในปีที่สองรัชกาลเจี้ยนอู่ จักรพรรดิกวางอู่ตี้มีคำสั่งให้ปฎิรูปนโยบายเก่าของจักรพรรดิหวางหมาง ปรับปรุงระบอบการเมือง จัดตั้งตำแหน่งซั่งซู6คนแบ่งกันรับผิดชอบบริหารกิจการการเมืองเพื่อลดอำนาจของเสนาบดีชั้นสูงสุดสามตำแหน่งได้แก่ไทเว่ย ซือถูและซือ คงให้น้อยลง ยกเลิก” ทาสหลวง ” ตรวจและจัดสรรที่ดินจนทำให้ประชาชน อยู่อย่างมีเสถียรภาพ จนถึงกลางศตวรรษที่1หลังจากการปกครองประเทศของสามรัชกาลได้แก่ฮั่นกวงอู่ตี้ ฮั่นหมิงตี้และฮั่นจางตี้ตามลำดับ ราชวงศ์ฮั่นตะวันออกก็ได้ฟื้นฟูความเข้มแข็งเกรียงไกรของฮั่นตะวันตกในอดีตขึ้นเรื่อยๆ ช่วงนี้คนยุคหลังเรียกว่าช่วงเจริญรุ่งเรือนยุคกวงอู่

        ในช่วงต้นของฮั่นตะวันออก รัฐบาลกลางได้เสริมสร้างการผสมผสานกับอิทธิพลท้องถิ่น จึงทำให้ประเทศมีความมั่นคง ในด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฮั่นตะวันออกล้วนได้พัฒนาจนมีระดับเหนือกว่าฮั่นตะวันตกอย่างรอบด้าน ในปีค.ศ.105  ไช่หลุนได้ปรับปรุงเทคนิคการผลิตกระดาษ ทำให้วิธีการบันทึกตัวหนังสือของจีนพ้นจากสมัยใช้ไม้ไผ่ และวิธีการผลิตกระดาษในฐานะที่เป็นหนึ่งในผลงานประดิษฐ์อันยิ่งใหญ่4อย่างในสมัยโบราณของจีนได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ในด้านวิทยาศาสตร์ วงการนักวิชาการมีนายจังเหิงเป็นตัวแทนประสบความสำเร็จในผลงาน ยิ่งใหญ่ จังเหิงได้สร้างเครื่องหุนเทียนอี๋ซึ่งเป็นเครื่องตรวจวัดดาราศาสตร์และเครื่องตี้ต้งอี๋เครื่องพยากรณ์แผ่นดินไหว นอกจากนี้  หัวถัว แพทย์ ผู้มีชื่อเสียงในสมัยปลายฮั่นตะวันออกเป็นศัลยแพทย์  คนแรกที่ใช้ยาชาในการผ่าตัดผู้ป่วย

5.ราชวงศ์เว่ย ราชวงศ์จิ้น ในยุคสมัยหนานเป่ยเฉา(รัฐเหนือใต้)
         ตั้งแต่ค.ศ.220-589เป็นยุคของราชวงศ์เว่ยและราชวงศ์จิ้น ปลายศตวรรษที่สอง การปกครองของราชวงศ์ฮั่นตะวันออกเสื่อมโทรมลง ประวัติศาสตร์ของจีนพัฒนาเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการแบ่งแยกที่กินเวลาค่อนข้างยาวนาน ช่วงเริ่มต้นคือช่วงสามก๊กได้แก่ก๊กเว่ย ก๊กสู่และก๊กอู๋(ค.ศ.189-265) หลังจากยุคสามก๊กก็คือสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก แต่ภาวะเอกภาพของจิ้นตะวันตกมีเวลาสั้นมาก(ค.ศ.265-316) ต่อมาจีนก็ตกอยู่ในสภาพแบ่งแยกอีก เชื้อพระวงศ์ของจิ้นตะวันตกได้สถาปนาจิ้นตะวันออก(ค.ศ.317-420)ที่ภาคใต้ของจีน ส่วนภาคเหนือตกอยู่ในสภาพรบกันวุ่นวายระหว่างชนชาติ เกิดอำนาจรัฐต่างๆจำนวนมาก  โดยรวมแล้วเรียกว่า”16ก๊ก

          ในระยะนี้ เศรษฐกิจภาคใต้ของจีนมีการพัฒนาไปค่อนข้างเร็ว ชนชาติส่วนน้อยในภาคตะวันออกและภาคเหนืออพยพเข้า สู่ภาคกลางของจีนเรื่อยๆ การอพยพและการกลมกลืนกันระหว่างชนชาติได้หนุนให้เกิดการผสมผสานและการแลกเปลี่ยน ในด้านวัฒนธรรม กระแสความคิดด้านอภิปรัชญาชนิดหนึ่งที่ใช้ความคิดของเต๋ามาอธิบายคัมภีร์ของขงจื๊อแพร่หลายมาก พุทธศาสนาและศาสนาเต๋ามีการแพร่กระจายและพัฒนาท่ามกลางการต่อสู้กัน แต่ผู้ปกครองส่วนใหญ่มักจะส่งเสริมพุทธศาสนา ในด้านวรรณคดีและศิลปะ บทกวีของกวี7คนในรัชกาลเจี้ยนอัน และเถา ยวนหมิงเป็นต้น ลายมือเขียนพู่กันของหวาง ซีจือ ภาพวาดของกู้ ไขจือศิลปะทางพุทธศาสนาต่างๆในถ้ำหินเช่นถ้ำหินตุนหวงล้วนเป็นผลงานยอดเยี่ยมในยุคนี้

         ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  จู่ ชงจือเป็นคนแรกที่คำนวณอัตราส่วนระหว่างเส้นรอบวงกับเส้นผ่าศูนย์กลางไปถึงหน่วยที่7หลังจุดทศนิยม หนังสือตำราทางวิชาการเรื่องฉีหมินย่าวซู่”(ความรู้ทางเกษตร)ของนายเจี่ย ซือเซียะเป็นงานประพันธ์อันยิ่งใหญ่ในด้านเกษตรศาสตร์ของโลก

          สมัยช่วงรัฐเหนือใต้(ค.ศ.420-589)เป็นชื่อรวมของรัฐภาคใต้และรัฐภาคเหนือ ก๊กแรกของรัฐภาคเหนือคือเว่ยเหนือ ต่อมาเว่ยเหนือแบ่งแยกเป็นเว่ยตะวันออกและเว่ยตะวันตก ต่อมาฉีเหนือเข้าแทนเว่ยตะวันออก โจวเหนือเข้าแทนเว่ยตะวันตก  และโจวเหนือก็โค่นฉีเหนือลง ส่วนรัฐภาคใต้กลับค่อนข้างไม่ซับซ้อน จากก๊กซง เป็นฉี เหลียงและเฉินตามลำดับ

         เศรษฐกิจของภาคใต้ในสมัยนี้พัฒนาเร็วกว่าภาคเหนือเพราะภาคกลา มีการปะทะรบพุ่งกันไม่ขาดสาย ประชาชนที่อาศัยในแถบภาคกลางจึงอพยพลงภาคใต้เพื่อหนภัยสงครามทำให้ทางใต้มีมีจำนวนผู้ใช้แรงงานเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นเทคนิคการผลิตที่ก้าวหน้าก็เริ่มแพร่กระจายเข้าสู่ภาคใต้มากขึ้น เป็นการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างมาก เขตบริเวณเมืองหยางโจวเป็นเขตที่มีเศรษฐกิจเจริญก้าวหน้าที่สุดของรัฐภาคใต้ในด้านวัฒนธรรม ผลงานสำคัญทีสุดคือการพัฒนาความคิด ด้านปรัชญาที่ใช้ความคิดของเต๋ามาอธิบายคัมภีร์ของขงจื๊อ ความปั่นป่อนของยุคสมัยได้สร้างเงื่อนไขแก่อิสรภาพทางความคิด ในด้านวรรณคดี ผลงานสำคัญที่สุดคือบทกวี

        ในยุคสมัยนี้ การแลกเปลี่ยนกับภายนอกก็คึกคักมาก จีนมีการไปมาหาสู่กับญี่ปุ่น เกาหลี เอเซียกลาง โรมตลอดจนประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

        หลังจากจิ้นตะวันออกสูญสิ้นลง ก็เข้าสู่ยุคสมัยรัฐเหนือใต้ซึ่งเป็นช่วงแบ่งแยกภาคเหนือกับภาคใต้ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์จีนซึ่งมีไม่บ่อยนัก แม้สภาพแบ่งแยกเช่นนี้จะกีดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ตาม เนื่องจากการเข้าปกครองพื้นที่ภาคกลางของชนชาติจากภายนอกการผสมผสานครั้งยิ่งใหญ่ระหว่างชนชาติในบริเวณลุ่มแม่น้ำเหลืองซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้ ชนชาติส่วนน้อยต่างๆในภาคเหนือของจีนถูกชนชาติฮั่นกลืนชาติจนกระทั่งรวมเป็นชนชาติเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ กล่าวได้ว่า การแบ่งแยกของสมัยรัฐเหนือใต้นั้นมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเร่งรวมชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของจีน และก็เป็นขั้นตอนสำคัญที่ขาดเสียไม่ได้ของกระบวนการพัฒนาประชาชาติจีน

 6.ราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถัง
          ราชวงศ์สุยปกครองประเทศเพียง37ปีนับตั้งแต่ค.ศ.581จักรพรรดิสุยเหวินตี้ทรงพระนามหยางเจียนสถาปนาราชวงศ์สุยขึ้นจนถึงค.ศ.618จักรพรรดิสุยหยางตี้ทรงพระนามหยางกว่างถูกปลงพระชนม์ด้วยการแขวนศอ นับเป็นราชวงศ์ที่มีอายุสั้นมาก จักรพรรดิสุยเหวินตี้ได้สร้างคุณูปการอันยิ่งใหญ่หลายด้าน เช่น ยกเลิกระบบ6เสนาบดีของราชวงศ์โจวเหนือลง และจัดตั้งระบบ3กระทรวง6ฝ่ายขึ้น จักรพรรดิสุยหยางตี้ยังได้ตรากฎหมายใหม่โดยลดความ ทารุณในการลงโทษลงเมื่อเทียบกับยุคสมัยช่วงรัฐภาคเหนือกับรัฐภาคใต้ นอกจากนั้น จักรพรรดิสุยหยางตี้ยังได้จัดตั้งระบบสอบจอหงวนซึ่งเป็นวิธีการคัดเลือกข้าราชการแบบใหม่ แต่จักรพรรดิสุยหยางตี้ก็ไม่มีผลงานมากนัก นอกจากการขุดลอกแม่น้ำลำคลองหลวง ( เพื่อทรงเรือประพาสทางชลมารค ) จักรพรรดิสุยหยางตี้มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ของจีนในด้านความโหดร้ายทารุณ  เพราะโปรดให้เก็บภาษีอย่างรีดนาทาเร้นจนประชาชนเคียดแค้น มาก ในที่สุดจักรพรรดิสุยหยางตี้ก็ถูกแขวนพระศดสิ้นพระชนม์ ที่เมืองเจียงตู ราชวงศ์สุยก็เลยสิ้นสุดลง
         ราชวงศ์ถังปกครองประเทศนานถึง289ปีตั้งแต่ค.ศ.618เมื่อราชวงศ์ถังสถาปนาขึ้นจนถึงค.ศ.907ราชวงศ์ถังถูกจูเวินโค่นลง ราชวงศ์ถัง แบ่งได้เป็นสองช่วงจากการก่อกบฎของอันลู่ซันและสื่อซือหมิง ช่วงแรกเป็นช่วงที่เจริงรุ่งเรือง ช่วงหลังเป็นช่วงที่เสื่อมโทรมลง จักรพรรดิถัง เกาจู่สถาปนาราชวงศ์ถัง  หลี่ สื่อหมิน โอรสของจักรพรรดิ์ถังเกาจู่ได้นำกองทัพรวบรวมจีนเป็นเอกภาพใช้เวลานานถึง10ปี หลังจากเหตการณ์ประตูเซวียนอู่เหมิน  หลี่ สื่อหมินขึ้นครองราชย์จนเป็นจักรพรรดิถังไท่จง ถังไท่จงบริหารประเทศอย่างแข็งขันจนทำให้ราชวงศ์ถังเจริญรุ่งเรืองอย่างไม่เคยมีมาก่อน อยู่ในฐานะนำหน้าทั่วโลกในสมัยนั้นทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและด้านอื่นๆ ซึ่งเรียกว่าช่วงเจริญรุ่งเรืองรัชสมัยเจินกวน” หลังจากนั้น ในสมัยจักรพรรดิ์ถังเสวียนจงก็เจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง เรียกว่าช่วงเจริญรุ่งเรืองรัชสมัยไคหยวน” ประเทศเข้มแข็งเกรียงไกร ประชาชนมีความมั่งคั่ง แต่หลังจากนั้นไม่นาน ในช่วงปลายรัชกาลถังเสวียนจงได้เกิดกบฎอันลู่ซันและสื่อซือหมิง จากนี้เป็นต้นมา ราชวงศ์ถังก็เริ่มเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ

          ในสมัยราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถัง ระบบการเมืองมีการพัฒนาไปไม่น้อยและมีส่งอิทธิพลต่อยุคหลังมาก เช่นระบบ3กระทรวง6ฝ่าย ระบบสอบจอหงวนและระบบภาษีเป็นต้น ในด้านการต่างประเทศ ราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถังได้ใช้มาตรการที่ค่อนข้างเปิดประเทศ การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างประเทศมีบ่อยครั้ง ในด้านวรรณคดี บทกวีของราชวงศ์ถังมีผลงานอันยิ่งใหญ่ แต่ละช่วงล้วนมีกวียอดเยี่ยมเกิดขึ้น เช่นช่วงต้นของราชวงศ์ถังมีเฉินจื่ออ๋าง ช่วงเจริญรุ่งเรืองของราชวงศ์ถังมีหลี่ไป๋และดู้ฝู่ ช่วงกลางของราชวงศ์ถังมีไป๋ จวีอี้และหยวนเจิ่น ช่วงปลายของราชวงศ์ถังมีหลี่ ซังอิ่นและตู้มู่ ขบวนการส่งเสริมบทความสมัยโบราณที่หานอวี๋  และหลิ่ว จงหยวนริเริ่มมีอิทธิพลต่อคนยุคหลังมาก ลายมือเขียนพู่กันของเอี๋ยนเจินชิง ภาพวาดของหยานลี่เปิ่น  อู่เต้าจื่อ หลี่ซือซุ่นและหวางเหวย ชุดระบำที่ชื่อหนีซังอวี่อีอู่”  และศิลปะในถ้ำหินต่างๆได้แพร่หลายจนถึงยุคปัจจุบัน ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิธีการพิมพ์และดินปืนซึ่งเป็นสองอย่างในสิ่งประดิษฐ์อันยิ่งใหญ่สี่อย่างของจีนก็เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง
         ราชวงศ์ถังช่วงหลังมีความวุ่นวายในด้านการเมือง เกิดการปะทะกันระหว่างพรรคหนิวและพรรคหลี่กับการกุมอำนาจของขุนนางขันที การลุกขึ้นต่อสู้ของชาวนาเกิดขึ้นไม่ขาดสาย ในที่สุด การลุกขึ้นสู้ที่มีผู้นำได้แก่หวงเฉา  จู เวินที่เคยเป็นบริวารของหวงเฉา แต่กลับไปยอมจำนนต่อรัฐบาลราชวงศ์ถัง หลังจากนั้น ก็ฉวยโอกาสโค่นราชวงศ์ถังลง ประกาศตนเป็นจักรพรรดิโดยสถาปนาราชวงศ์เหลียงยุคหลังซึ่งเป็นราชวงศ์แรกของสมัยอู่ไต้หรือสมัย5ราชวงศ์

7.ราชวงศ์ซ่ง
         ในปีค.ศ.950 พระเจ้าซ่งไท่จู่ มีพระนามว่าค่วงอิ้น ได้ก่อการปฎิวัติที่หมู่บ้านเฉินเฉียว และสถาปนาราชวงศ์ซ่งขึ้นสภาพแตกแยกของจีนที่เคยมีในสมัย5ราชวงศ์และ10อาณาจักรจึงสิ้นสุดลง ราชวงศ์ซ่งปกครองประเทศนาน319ปีจนกระทั่งปีค.ศง1279 ราชวงศ์ซ่งก็ถูกราชวงศ์หยวนโค่นอำนาจลง ราชวงศ์ซ่งแบ่งเป็นสองช่วงได้แก่ซ่งเหนือและซ่งใต้ ในช่วงเวลาเดียวกันกับซ่งเหนือ ชนชาติชิตันได้สถาปนาราชวงศ์เหลียว(ค.ศ.947-1125)ขึ้นที่ภาคเหนือของจีน ชนชาติตั่งเซี่ยงได้สถาปนาราชวงศ์เซี่ย(ค.ศ.1038-1227)ที่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ค.ศ.1115 ชนชาตินวี่เจินซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชนชาติแมนจูได้สถาปนาราชวงศ์จิน(ค.ศ.1115-1234)ที่ภาคเหนือของจีน ต่อมาค.ศ.1125 ราชวงศ์จินได้โค่นราชวงศ์เหลียวลง และรุกเข้าสู่เมืองหลวงของราชวงศ์ซ่งในปี1127ได้จับจักรพรรดิ์ซ่งฮุยจงและจักรพรรดิซ่งชินจงไป ซ่งเหนือจึงได้สิ้นอำนาจลง หลังจากนั้น จักรพรรดิซ่งกัวจงได้ประกาศขึ้นครองราชย์ที่เมืองอิ้งเทียนฝู่(เมืองซังชิว มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) แล้วย้ายเมืองหลวงไปหลินอัน(เมืองหางโจวในปัจจุบัน)และสถาปนาซ่งใต้ขึ้น ปกครองได้แต่ภาคใต้ของจีนเท่านั้น จึงกล่าวได้ว่า ซ่งเหนือเป็นช่วงที่มีอำนาจไปพร้อมๆกับราชวงศ์เหลียว ราชวงศ์เซี่ยและราชวงศ์จิน แต่ราชวงศ์ซุ่งใต้เป็นช่วงที่ปกครองแต่เพียงภาคใต้ของจีนเพื่อแสวงหาความสงบสุขและค่อยๆเสื่อมโทรมลง

         หลังจากซ่งเหนือรวมภาคเหนือของจีนเป็นเอกภาพแล้ว เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของจีนได้พัฒนาไปมาก การค้าระหว่างประเทศก็คึกคักมาก แม้การปฎิบัติตามนโยบายใหม่ของฟั่น จ้งเอียนและการปฎิรูปของหวาง อันซึไม่ได้ทำให้ซ่งเหนือเจริญรุ่งเรืองเป็นระยะเวลายาวนานอย่างแท้จริงก็ตาม แต่ก็ได้แก้ไขความขัดแย้งทางสังคมไปบ้าง การลุกขึ้นต่อสู้ของชาวนาที่นำโดยซ่งเจียงและนายฟางล่าเพื่อต่อต้านการปกครองที่เสื่อมโทรมเน่าเฟะในสมัยจักรพรรดิซ่งฮุยจง หลังจากราชวงศ์จินได้โค่นอำนาจซ่งเหนือลงแล้ว ซ่งใต้ปกครองได้เพียงภาคใต้ของจีนเท่านั้นและไม่มีแผนการอันยิ่งใหญ่ที่จะปราบภาคเหนือของจีนเพื่อรวมจีนเป็นเอกภาพอีกครั้ง ในระยะเดียวกัน ชนชาติชิตันได้สถาปนาราชวงศ์เหลียวที่ภาคเหนือของจีน ชนชาติตั่งเซี่ยงได้สถาปนาราชวงศ์ซีเซี่ยที่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน การตั้งราชวงศ์ซ่ง เหลียวและซีเซี่ยทำให้สถานการณ์มีสภาพเป็นดุลกำลัง3เส้า ในปีค.ศ.1115 ชนชาตินวี่เจินได้สถาปนาราชวงศ์จินที่ภาคเหนือของจีน  และในค.ศ.1125 จินได้โค่นอำนาจราชวงศ์เหลียว และในปี1127ได้รุกเข้าสู่กรุงไคเฟิงมืองหลวงของซุ่งเหนือ จับจักรพรรดิซุ่งฮุยจุงและซ่งชินจงไป ซ่งเหนือจึงได้สิ้นอำนาจลง หลังจากนั้น จักรพรรดิ ซ่งเกา จงชื่อเจ้าโก้วครองราชย์ที่เมือ งอิ้งเทียนฝู่(เมืองซังชิวในปัจจุบัน) ต่อมายังหนีไปถึงกรุงหลินอัน(เมืองหังโจวในปัจจุบัน) ปกครองได้แต่เพียง ภาคใต้ ในสายตาของชนชั้นปกครองเวลานั้น การต่อต้านราชวงศ์จินของจอมพลงักฮุยที่มีชื่อเสียงนั้นก็ เป็นเพียงการป้องกันประเทศตนเท่านั้น การละโมบอำนาจและบริหารประเทศอย่างผิดพลาดของเจี่ย สื้อเต้าในช่วงปลายของสมัยราชวงศ์ซ่งใต้เป็นการเร่งให้ซ่งใต้พินาศ เร็วยิ่งขึ้น

         ในสมัยราชวงศ์ซ่ง ผลงานในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีจำนวนมากมาย เข็มทิศ การพิมพ์หนังสือและดินปืนเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่ยิ่งใหญ่สามประการที่ได้รับการพัฒนาและประยุกต์ใช้อย่างเต็มที่ในยุคนี้ ในจำนวนนี้ วิธีการพิมพ์โดยใช้ตัวเรียงพิมพ์ที่ประดิษฐ์คิดสร้างใหม่โดยปี้เซิงเกิดขึ้นก่อนยุโรปถึง400ปี ซูซ่งได้ผลิตเครื่องสังเกตปรากฏการณ์ดวงดาวและนาฬิกาทางดาราศาสตร์เครื่องแรกของโลก หนังสือเรื่องเมิ่งซีปี่ถานของเสินคั่วมีฐานะสูงส่งในประวัติศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในด้านวัฒนธรรม จริยศาสตร์ได้รับความนิยมชมชอบ และได้มีนักจริยศาสตร์หลายคนเช่นจูซีและลู่จิ่วยวนเป็นต้น ศาสนาเต๋า พุทธศาสนาตลอดจนศาสนาอื่นที่แพร่หลายเข้าสู่จีนจากต่างประเทศก็แพร่หลายมาก หนังสือเรื่องประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ถังฉบับใหม่ที่เรียบเรียงโดยโอว หยางชิวในซ่งเหนือได้สร้างผลงานอันยิ่งใหญ่ต่อการบันทึกประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ถัง ส่วนหนังสือเรื่อง จืจื้อทุงเจี้ยนซึ่งเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ทั่วไปที่ซือหม่าเชียน เรียบเรียงตามลำดับปี ก็นับเป็นผลงานยอดเยี่ยมของหนังสือประวัติศาสตร์ของจีน ในด้านวรรณคดี ราชวงศ์ซ่งมีกวีประพันธ์วรรณกรรมปกิณกะที่มีชื่อเสียงหลายคนเช่นโอว หยางชิวและซูสื้อเป็นต้น บทกลอนซ่งเป็นวรรณกรรมที่ยอดเยี่ยมที่สุดในช่วงราชวงศ์ซ่ง มีกวีที่ดีเลิศหลายคนเช่นเอี้ยนซู หลิวหย่ง โจวปังเอี้ยน หลี่ ชิงเจ้าและซิน ชี่จี๋เป็นต้น ในสมัยราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์จิน ละครและงิ้วก็มีค่อนข้างแพร่หลาย ในด้านการวาดภาพ ผลงานที่มีชื่อเสียงค่อนข้างมากคือภาพวาดทัศนียภาพ ดอกไม้และนก ภาพวาดชื่อชิงหมิงซั่งเหอถู”(งานรื่นเริงวันเช็งเหม็ง)ของจาง จื๊อตวนเป็นผลงานยิ่งใหญ่ในด้านการวาดภาพของจีน
 8.ราชวงศ์หยวน

        กุบไลข่านโค่นราชวงศ์ซ่งลง แล้วเปิดศักราชชาวมองโกลครองประเทศจีน ตั้งกรุงปักกิ่งเป็นเมืองหลวง (สมัยนั้นชื่อว่า เมืองต้าตู) ทรงตั้งความหวังจะเป็นกษัตริย์ที่ดี ปกครองอย่างสุขุมรอบคอบ เอาใจใส่ประชาชน จึงสามารถชนะใจชาวจีนได้ และเป็นฮ่องเต้มองโกลพระองค์เดียว ที่ชาวจีนยอมรับ (เดิมทีนั้น พวกมองโกลขึ้นชื่อลือชามากในเรื่องความโหดร้าย ทั้งนี้เพราะวิถีชีวิตเดิม ที่อยู่ในทุ่งหญ้า ทะเลทราย แถมยังเร่ร่อนไปเรื่อยๆ) นอกจากนี้ กุบไลข่านยังพยายามขยายดินแดนไปกว้างไกลมาก ถึงกับยกทัพเรือจะไปตีญี่ปุ่น แต่เรือถูกมรสุมเสียก่อนจึงไม่สำเร็จ

      กุบไลข่านสนพระทัยทางอักษรศาสตร์และวรรณกรรมมาก จึงส่งเสริมบทประพันธ์ต่างๆ ปรากฏว่า บทงิ้วในสมัยกุบไลข่านดีมาก จนไม่มีบทงิ้วสมัยใดเทียบได้ การติดต่อกับต่างประเทศ ก็เป็นไปด้วยดี มาร์โคโปโลและ สมณทูตจากวาติกัน ก็ได้มาเยือนแดนจีนในยุคของกุบไลข่านนี่เอง

      พอสิ้นยุคกุบไลข่าน ก็ไม่มีฮ่องเต้มองโกลองค์ใดเด่นเหมือนพระองค์ จึงมีการพยายามโค่นล้มราชวงศ์หยวนอยู่ตลอดเวลา ฮ่องเต้องค์ต่อๆ มาของราชวงศ์หยวน ส่วนใหญ่ครองราชย์ไม่นานนัก และได้ขึ้นครองราชย์ ด้วยการแย่งชิงอำนาจกัน เนื่องจากมองโกลไม่มีกฎแน่นอน เกี่ยวกับการสืบราชบัลลังก์ จวบจนฮ่องเต้องค์สุดท้าย หยวนซุ่นตี้ ซึ่งครองราชย์นานกว่าองค์ก่อนๆ ในยุคนี้ มีความวุ่นวายมาก เกิดภัยพิบัติขึ้นหลายที่ เชื้อพระวงศ์กับขุนนาง ก็ร่วมกันข่มเหงชาวบ้าน จึงมีกบฏเกิดขึ้นทั่วไป

      ครั้งนั้น มีชายผู้หนึ่งชื่อ จูหยวนจาง ตอนอายุได้ ๑๗ ปี ครอบครัว ก็ตายหมดจากโรคระบาด จึงไปบวชที่วัดหวงเจี๋ย ต่อมา เร่ร่อนไปอีก ๓ ปี เนื่องจากเสบียงอาหารหมด จึงกลับมาที่วัดดังเดิม ครั้นชาวบ้านก่อกบฏขึ้น เขาก็เดินทางไปสมทบกับพวกกบฏ เริ่มนำทัพออกตีก๊กต่างๆ ในแผ่นดิน แล้วในที่สุดก็ได้ส่งแม่ทัพชื่อ สีต๋า ไปตีเมืองปักกิ่งได้สำเร็จ เป็นการโค่นล้มราชวงศ์หยวนลงได้ จากนั้น เขาก็ได้ตั้งราชวงศ์หมิงขึ้น ใช้เมืองนานกิงเป็นเมืองหลวง

9.ราชวงศ์หมิง
        เมื่อปีค.ศ.1368 จู หยวนจาง หรือจักรพรรดิหมิงไท่จู่ ปฐมกษัตริย์องค์ของราชวงศ์ครองราชย์ที่เมืองนานกิง และได้สถาปนาราชวงศ์หมิงขึ้น 31ปีแห่งการครองอำนาจ จักรพรรดิหมิงไท่จู่ได้เสริมสร้างระบอบรวมศูนย์อำนาจรัฐเผด็จการแบบศักดินาให้เข้มแข็งขึ้นอย่างสุดความสามารถ จักรพรรดิหมิงไท่จู่ประหารขุนนางผู้มีคุณูปการ ฆ่าผู้คนที่มีความเห็นที่ไม่เหมือนพระองค์ เพิ่มอำนาจของจักรพรรดิให้มากขึ้น ปราบปรามอิทธิพลที่ต่อต่ายพระองค์ หลังจากจักรพรรดิหมิงไท่จู่สวรรคตแล้ว จักรพรรดิเจี้ยนเหวินซึ่งเป็นพระราชนัดดาองค์หนึ่งได้ขึ้นครองราชย์ ต่อมาไม่นาน จูตี้ ผู้เป็นปิตุลาของจักรพรรดิเจี้ยนเหวินซึ่งเป็นได้ลุกขึ้นต่อสู้และโค่นอำนาจรัฐของจักรพรรดิเจี้ยนเหวินลง จูตี้ได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิหมิง เฉิงจู่หรือจักรพรรดิหยุงเล่อ ในปีค.ศ.1421 จักรพรรดิหย่งเล่อได้ย้ายเมืองหลวงจากเมืองหนานจิงไปยังกรุงปักกิ่ง

       แม้รัฐบาลของราชวงศ์หมิงจะเสริมระบอบรวมศูนย์อำนาจรัฐให้มากขึ้นก็ตาม แต่มีจักรพรรดิหลายองค์ไม่ทรงพระปรีชาหรือไม่กทรงพระเยาว์ ไม่สนพระทัยการบริหารประเทศ อำนาจจึงตกอยู่ในมือของเสนาบดีและขันที พวกเขาทุจริตคดโกงและขู่เข็ญรีดเอาเงิน ทำร้ายขุนนางที่ซื่อสัตย์ กิจการบริหารบ้านเมืองเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ ความขัดแย้งในสังคมรุนแรง ช่วงกลางสมัยราชวงศ์หมิงจึงเกิดการลุกขึ้นต่อสู้ของชาวนาหลายครั้งหลายหนแต่ถูกปราบปรามลงได้

       ในสมัยราชวงศ์หมิง เคยมีนักการเมืองที่มีชื่อเสียงชื่อจางจวีเจิ้ง สามารถคลี่คลายความขัดแย้งกันทางสังคมและกอบกู้การปกครองของราชวงศ์หมิงด้วยวิธีดำเนินการปฎิรูป เขาปรับปรุงระบบขุนนาง พัฒนาการเกษตร ซ่อมแซมแม่น้ำและคูคลอง และได้รวมภาษีอากรและการกะเกณฑ์บังคับต่างๆเป็นหนึ่งเดียวได้ช่วยลดภาระของประชาชนลงไปได้บ้างระดับหนึ่ง

         ในสมัยราชวงศ์หมิง การเกษตรพัฒนามากขึ้นกว่ายุคก่อน การทอผ้าไหมและการผลิตเครื่องเคลือบดินเผามีความก้าวหน้ารุ่งเรือง การทำเหมืองเหล็ก การหล่อเครื่องทองเหลือง การผลิตกระดาษ การต่อเรือเป็นต้นก็มีการพัฒนาอย่างมาก การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างประเทศมีบ่อยครั้ง เจิ้งเหอซึ่งชาวไทยเรียกกันว่าซำเปากงได้นำกองเรือจีนไปเยือนเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกาทั้งหมดกว่า30ประเทศถึง7ครั้งตามลำดับ แต่หลังช่วงกลางราชวงศ์หมิงเป็นต้นมา จีนถูกการรุกรานจากหลายประเทศรวมทั้งญี่ปุ่น สเปน โปรตุเกสและเนเธอร์แลนด์เป็นต้น

       ในสมัยราชวงศ์หมิง เศรษฐกิจการค้าก็ได้พัฒนาเริ่มปรากฏเป็นเค้าโครงของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ในช่วงต้นราชวงศ์หมิง จีนมีที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ไม่มีเจ้าของจำนวนมากมาย จักรพรรดิหมิงไท่จู่ได้รวบรวมคนพเนจร ลดและงดภาษีอากรให้พวกเขา ทำให้จำนวนชาวนามีที่นาทำเองเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆทางเกษตรเช่นใบยาสูบ มันเทศ ข้าวโพดและถั่วลิสงเป็นต้นก็ได้มีการนำเข้ามาในจีน ในสมัยราชวงศ์หมิงงานหัตถกรรมประเภทต่างๆเช่น เครื่องเคลือบดินเผาและสิ่งทอเป็นต้นได้พัฒนาถึงระดับค่อนข้างสูง โดยเฉพาะกิจการทอผ้าไหม มีเจ้าของโรงงานผลิตสิ่งทอที่มีเครื่องปั่นด้ายจำนวนหลายสิบเครื่อง และช่างปั่นทอมีฝีมือที่รับจัดตามสั่งโดยเฉพาะขึ้นแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเริ่มต้นขึ้นแล้ว ในสมัยราชวงศ์หมิงมีสินค้าหลากหลายชนิด การแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าเป็นไปอย่างคึกคัก ในสถานที่ที่มีผลผลิตอุดมสมบูรณ์และการคมนาคมสะดวกได้ก่อรูปขึ้นเป็นศูนย์การค้าทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก  เกิดเมืองใหญ่ที่มีความเจริญรุ่งเรืองเช่นปักกิ่ง นานกิง ซูโจว หังโจว กว่างโจวเป็นต้น

       ในสมัยราชวงศ์หมิง ระบอบสอบจอหงวนนิยมสอบการเขียนบทความแบบแปดตอน วรรณกรรมเรื่องยาวในสมัยราชวงศ์หมิงมีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงต่างๆเช่นซ้องกั๋ง” “สามก๊ก” “ไซอิ๊ว” “จินผิงเหมยหรือเรื่องบุปผาในกุณฑีทองเป็นต้น นอกจากนี้ ข้อเขียนและบทประพันธ์ที่มีลักษณะคลาสสิคต่างๆเช่นสารคดีบันทึกการท่องเที่ยวของสวี เสียเค่อในด้านภูมิศาสตร์ ตำราสมุนไพรของหลี่ สือเจินในด้านแพทยศาสตร์ ชมรมหนังสือวิทยาศาสตร์ด้านการเกษตรของสวี กวางฉี นักเกษตรศาสตร์ “ “เทียนกุงไคอู้หรือสารานุกรมเทคโนโลยีด้านการเกษตรและหัตถกรรมของนายซ่งอิ้งซิง นักวิชาการด้านหัตถกรรม สารานุกรมหย่งเล่อซึ่งเป็นชุมนุมรวมเอกสารและวิทยานิพนธ์เป็นต้นก็ล้วนประพันธ์ขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิงทั้งสิ้น
        ช่วงปลายราชวงศ์หมิง สภาพการผูกขาดที่ดินรุนแรงมาก พระราชวง ศ์และบรรดาเจ้านายที่ได้รับการแต่งตั้งมีที่ดินกระจายอยู่ทั่วประเทศ ภาษีอากรของรัฐบาลก็นับวันมากขึ้น ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นต่างๆของสังคมก็นับวันรุนแรงขึ้น มีเสนาบดีและขุนนางบางคนพยายามจะคลี่คลายความขัดแย้งในสังคมให้เบาบางลง และเรียกร้องให้ยับยั้งสิทธิ พิเศษของเสนาบดีขันทีและเชื้อพระวงศ์ทั้งหลาย เสนาบดีเหล่านี้เทียวบรรยายวิชาการและวิพากษ์วิจารณ์การเมืองจึงถูกเรียกกันว่าเป็นพรรคตงหลินตั่ง” แต่แล้วพวกเขาก็ต้องถูกเสนาบดีขันทีและขุนนางที่มีอำนาจโจมตีและทำร้าย ซึ่งยิ่งทำให้สังคมวุ่นวายมากยิ่งขึ้น

       การต่อสู้ในชนบทก็ทวีความรุนแรงขึ้น ในปีค.ศ.1627 มณฑลส่านซีเกิดทุพภิกขภัย แต่ข้าราชการยังคงบีบบังคับให้ประชาชนจ่ายภาษี จนทำให้เกิดการลุกขึ้นต่อสู้ ประชาชนที่ประสบภัยเป็นพันเป็นหมื่นรวมตัวขึ้นเป็นกองทหารชาวนาหลายกลุ่มหลายสาย ปีค.ศ.1644 กองทหารชาวนาบุกเข้าไปถึงกรุงปักกิ่ง จักรพรรดิฉงเจินซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์หมิงต้องผูกพระศอสิ้นพระชนม์

10.ราชวงศ์ชิง
       ราชวงศ์ชิงเริ่มตั้งแต่ปีค.ศ.1644 และสิ้นสุดลงในปี 1911 ตั้งแต่จักรพรรดินูรฮาจีชื่อจนถึงจักรพรรดิผู่อี๋ มีจักรพรรดิทั้งหมด 12 พระองค์  ปกครองแผ่นดินจีนนานถึง 268 ปี
        ดินแดนของจีนในสมัยนั้นในช่วงที่กว้างใหญ่ที่สุดมีมากกว่า 12 ล้าน ตารางกิโลเมตร เมื่อค.ศ.1616 นูรฮาจี หัวหน้าชนเผ่าแมนจูได้สร้างจินยุคหลังจนถึงปี 1636 หวงไท่จี๋ โอรสนูรฮาจีชื่อเปลี่ยนชื่อราชวงศ์เป็นชิง” ปี 1644 หลี่จื้อเฉิง แม่ทัพชาวนาได้ยกทัพเข้าตีกรุงปักกิ่ง และโค่นการปกครองของราชวงศ์หมิงลง จักรพรรดิฉงเจิน กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์หมิงผูกพระศอสิ้นพระชนม์ที่เชิงเขาจิ่งซัน ซึ่งอยู่ติดกับพระราชวังโบราณ ทหารราชวงศ์ชิงได้ฉวยโอกาสเข้าโจมตีทหารชาวนา และประสบชัยชนะในที่สุด จากนั้นจึงย้ายเมืองหลวงจากภาคอีสานของจีนมาอยู่ที่กรุงปักกิ่ง ต่อมา ราชสำนักชิงค่อยๆปราบปรามกบฏชาวนาในท้องที่ต่างๆของจีน และอิทธิพลหลงเหลือของราชวงศ์หมิงที่คิดจะฟื้นฟูหมิงทางภาคใต้ของจีน จนกระทั่งได้ปกครองทั่วทั้งประเทศจีนในที่สุด
        เพื่อให้ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นต่างๆผ่อนคลายลง ในระยะต้นๆ ราชสำนักชิงได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมการทำไร่ไถนา ขยายพื้นที่เพาะปลูก และลดหรือยกเลิกภาษีอากรของชาวไร่ชาวนาตามสมควร ทำให้สังคมจีนในสมัยนั้นพัฒนาก้าวหน้า กลางศตวรรษที่ 18 เศรษฐกิจสังคมศักดินายุคชิงได้พัฒนามากสู่ระดับสูงสุด ได้รับสมญาว่าเป็นสมัยที่เจริญรุ่งเรืองคังยงเฉียน” ระบบการปกครองแบบรวมอำนาจที่ศูนย์กลางมีความสมบูรณ์และทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ประเทศจีนมีความเข้มแข็งเกรียงไกร สังคมสงบเรียบร้อย ถึงปลายศตวรรษที่ 18 ประชากรจีนมีจำนวนถึง 3 ร้อยล้านคน
        ในปี 1661 แม่ทัพเจิ้งเฉิงกงได้นำกองเรือรบข้ามช่องแคบไต้หวันไปสู่เกาะไต้หวัน พิชิตอาณานิคมชาวเนเธอร์แลนด์ที่ยึดครองไต้หวันนาน 38 ปี ในต้นปี 1662 ทหารเนเธอร์แลนด์ยอมจำนนต่อราชวงศ์ชิง ไต้หวันได้กลับคืนสู่อ้อมมาตุภูมิ
         ปลายศตวรรษที่ 16 รัสเซียในสมัยพระเจ้าซาร์แผ่ขยายอาณาจักรมาทางตะวันออก ในช่วงที่ทหารแมนจูบุกลงใต้ ประเทศจีนเกิดความปั่นป่วน รัสเซียได้ฉวยโอกาสยึดครองเขตยาคึซา เขตหนีปู้ฉู่และเขตพรมแดนอื่นๆของจีน ราชสำนักชิงได้ประท้วงและเรียกร้องให้ทหารรุกรานชาวรัสเซียถอนตัวออกจากดินแดนของจีน ในค.ศ.1685 ถึง 1686 จักรพรรดิคังซีได้ยกทัพไปโจมตีทหารรัสเซียที่ประจำเขตยาคึซา บังคับให้รัสเซียยอมเข้าร่วมการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาปักปันเขตแดนภาคตะวันออกของจีน ปี 1689 ผู้แทนจีนและรัสเซียได้จัดการเจรจาที่เขตหนีปู้ฉู่ ลงนามสนธิสัญญาหนีปู้ฉู่อันเป็นสนธิสัญญาว่าด้วยการปักปันเขตแดนฉบับแรกของจีนกับรัสเซีย
        กลางรัชกาลจักรพรรดิ์เฉียนหลง ราชสำนักชิงใช้กำลังทหารปราบปรามอิทธิพลแบ่งแยกประเทศของเผ่าจุ่นเก๊อะเอ่อและกบฎของต้า-เสี่ยวเหอจั๊วะของเผ่าหุย ทำให้เขตซินเกียงสงบเรียบร้อยลง ดำเนินนโยบายและใช้มาตรการต่างๆ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและการคมนาคมของเขตชายแดนของจีน
        สมัยราชวงศ์ชิง จีนได้ประสบผลสำเร็จอันใหญ่หลวงในด้านวัฒนธรรม ปรากฏนักคิดยอดเยี่ยมหลายคน เช่นหวางฟูจือ  หวงจงซี  กู้เอี๋ยนอู่  ตลอดจนไต้เจิ้นเป็นต้น  ขณะเดียวกัน ก็มีนักเขียนและศิลปิน มีชื่อเสียงโด่งดังในประวัติศาสตร์จีน อาทิเช่นนายเฉาเสวี่ยฉิน  ผู้ประพันธ์ความฝันในหอแดง”  อู๋จิ้งจือ  ข่งซ่างเหยิน  ในด้านการวิจัยประวัติศาสตร์ ราชวงศ์ชิงก็มีผลงานสะสมจำนวนมาก มีนักศึกษาค้นคว้าฝ่ายต่างๆเกิดขึ้นไมาขาดสาย  ได้ปรากฏ หนังสือสื้อคู่ฉวนซู” “กู่จินถูซูจิ๊เฉิงอันเป็นหนังสือสรรนิพนธ์รวมชุดขนาดใหญ่ จีนสมัยราชวงศ์ชิงยังได้ประสบผลสำเร็จในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำนวนมาก โดยเฉพาะด้านสถาปัตยกรรมการก่อสร้าง
        สำหรับเศรษฐกิจในสมัยนั้น จีนสมัยราชวงศ์ชิงยังคงเป็นประเทศเกษตรกรรม ในด้านวัฒนธรรมและความคิด ราชวงศ์ชิงยังคงส่งเสริมหลักการและคำสอนต่างๆของสังคมศักดินาที่สืบทอดกันมา เพื่อพิทักษ์การปกครองของจักรพรรดิ ราชวงศ์ชิงได้จำคุกบุคคลส่วนหนึ่งในสังคมเพราะเขียนบทประพันธ์ที่เสียดสีหรือแสดงความคิดเห็นคัดค้านต่อต้านราชวงศ์ชิง  ความสัมพันธ์ด้านต่างประเทศนั้นปิดประเทศมาช้านาน  จึงหลงภูมิใจในตน.
       หลังช่วงกลางราชวงศ์ชิง ความขัดแย้งทางสังคมต่างๆนับวันรุนแรงยิ่งขึ้นและปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น เกิดการกบฎต่อต้านราชวงศ์ชิงไม่ขาดสาย การเกิดกบฎลัทธิไป๋เหลียนเจี้ยวทำให้ความเจริญรุ่งเรืองของราชวงศ์ชิงสิ้นสุดลง
      สงครามฝิ่นที่เกิดขึ้นในค.ศ.1840 และการรุกรานของจักวรรดินิยมต่างประเทศบีบ บังคับให้ราชสำนักชิงต้องลงนามสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่างๆกับจักรวรรดินิยมต่างชาติที่รุกรานจีน ปักปันดินแดนและจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม ให้กับผู้รุกราน เปิดเมืองท่าให้ชาวต่างชาติ ทำให้สังคมจีนค่อยๆกลายเป็นสังคมกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา ปลายราชวงศ์ชิง การเมืองทุจริตเน่าเฟะ กระแสความคิดสังคมไม่ได้พัฒนา ประชาชนจีนที่ติดยาฝิ่นร่างกายอ่อนแอขาดความมั่นใจในตนเอง สังคมศักดินาจีนค่อยๆเข้าสู่ระยะเสื่อมโทรม ประชาชนจีนมีความเดือดร้อนทุกข์ยาก จึงก่อการเคลื่อนไหวต่อต้านจักรวรรดินิยมและศักดินานิยมต่างๆ เช่น การเคลื่อนไหวไท่ผิงเทียนกั๋ว ซึ่งเป็นกบฎชาวนา มีอิทธิพลใหญ่หลวง โจมตีการปกครองของราชวงศ์ชิงอย่างรุนแรง เพื่อช่วยประเทศชาติและกอบกู้ชะตากรรมของตน ภายในชนชั้นปกครองราชวงศ์ชิงได้ดำเนินการปฏิรูปบ้าง เช่น การเคลื่อนไหวหยังอู้ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ราชสำนักชิงส่งนักศึกษาไปเรียนต่อที่ต่างประเทศและศึกษาประสบการณ์จากประเทศฝรั่งที่ทันสมัยแล้ว และปฏิรูประบอบการเมืองอู้ซวีซึ่งมุ่งปฏิรูประบอบการปกครองแบบศักดินาของจีนและต่อต้านการปกครองประเทศแบบเผด็จการของชนชั้นเจ้านายที่ดิน นักปฏิรูปคิดที่จะสร้างฟื้นฟูความเจริญรุ่ง เรืองและมั่งคั่งให้กับประเทศจีนจากระดับบนสู่ระดับล่าง แต่ต้องประสบความล้มเหลวในที่สุด บุคคลที่มีอุดมคติกว้างไกลและมีวิสัยทัศน์และวีรบุรุษที่ยอมเสียชีวิตเพื่อประเทศชาติจำนวนนับไม่ถ้วน ได้ต่อสู้รุ่นแล้วรุ่นเล่า กระแสชาตินิยมของจีนได้พัฒนาไปสู่จุดสูงสุดในยุคใกล้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ในปีค.ศ.1911 การปฏิวัติซินไฮ่ ดร.ซุนยัดเซ็นเป็นผู้นำได้โค่นล้มการปกครองของราชวงศ์ชิง และสิ้นสุดสังคมศักดินาจีนซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2,000 ปี ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ประวัติศาสตร์จีนได้เข้าสู่ยุคใหม่

ที่มา นิรนาม
แล้วอย่าลืมแวะอ่าน เผยเทคนิคพิเศษ ปั้นเพชร HSK Level 1 
ติดตามเพิ่มได้ที่ https://www.facebook.com/guanlaoshi/

หนังสือดี ที่ต้องอ่าน

No comments:

Post a Comment