Saturday 16 March 2019

ใบความรู้ที่ 4 วัฒนธรรมและประเพณีของจีน


ใบความรู้ที่ 4  

อ.ไชยฉัตร โรจน์พลทามล 


วัฒนธรรมและประเพณีของจีน
นอกเหนือจากความรู้ในเรื่องของประวัติพระ และพิธีกรรมต่างๆ ที่สหายเราให้ความสนใจเป็นพิเศษแล้ว ผมเห็นว่าในเรื่องของวัฒนธรรมและประเพณีต่างๆ ของจีนที่ถือปฏิบัติกันมาก็นับเป็นองค์ความรู้หนึ่งที่สหายเราจะได้ร่วมกันศึกษาเรียนรู้ อันจะทำให้เราได้ทราบถึงประวัติความเป็นมาและความหมายที่ซ่อนเร้นไว้ในประเพณีต่างๆ จึงขอเชิญสหายได้ร่วมกันค้นคว้าและบันทึกไว้เป็นองค์ความรู้ของเว็บไซต์นี้ให้เกิดความรู้ที่กว้างขวางยิ่งขึ้น อันจะสามารถอำนวยประโยชน์ให้กับผู้คนในวงกว้าง ต่อไป 
ตรุษจีน คือ วันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน
สมัยโบราณในยุคราชวงศ์ต่างๆ นับช่วงพ้นปีเก่าเข้าปีใหม่แตกต่างกันไป กระทั่งปี 105 B.C. ฮั่นอู่ตี้ฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ฮั่นปรับเปลี่ยนระบบปฏิทินใหม่ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เรียกว่า ปฏิทินไท่ชูลี   ปฏิทินไท่ชูลี่ ปรับปรุงขึ้นจากระบบปฏิทินของราชวงศ์เซี่ย (21-16 ศตวรรษ B.C.) ถือเอาวันแรกของปักษ์ลี่ชุน 立春 เป็นวันขึ้นปีใหม่  ชาวจีนจึงนับเอาวันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่มา 2010 ปีแล้ว   วันตรุษจีนหรือปีใหม่นี้ จีนโบราณเรียกว่า 过年 กั้วเหนียน ผ่านปีหรือ 元旦หยวนตั้น – ขึ้นปีใหม่   เทศกาลตรุษปีใหม่หรือตรุษวสันต์นี้ เดิมเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวที่อุดมสมบูรณ์ นักวิชาการเริ่มวิเคราะห์จากคำว่า “เหนียน” 年ซึ่งปัจจุบันแปลว่า ปี
       ทศกาลตรุษจีน เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “กั้วเหนียน” 过年
    ในสมัยโบราณ (ก่อนราชวงศ์โจว) เหนียน หมายถึง รอบการเจริญเติบโตของธัญพืชรอบหนึ่ง ธัญพืชสุกพร้อมที่จะเก็บเกี่ยว และ/หรือหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของการเพาะปลูก ดังนั้น คำว่า “กั้วเหนียน” เดิมทีมิได้หมายถึงการสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ แต่หมายความว่า ในปีนั้นๆ เก็บเกี่ยวได้อุดมสมบูรณ์
        โดยทั่วไปแล้ว การเพาะปลูกในตงง้วนจะเก็บเกี่ยวกันตอนปลายฤดูใบไม้ร่วง ส่วนฤดูหนาวคือช่วงระยะล่าสัตว์ เมื่อเราย้อนกลับไปดูการกำหนดเดือนอ้ายขึ้นปีใหม่ในปฏิทินโบราณทั้ง 4 ระบบ จะเห็นว่าก๊กเซี่ย ขึ้นปีใหม่ตอนปลายเดือนมกราคม ก๊กซางขึ้นปีใหม่ตอนปลายเดือนธันวาคม     ก๊กโจวขึ้นปีใหม่ตอนปลายเดือนพฤศจิกายน ก๊กฉินขึ้นปีใหม่ตอนปลายเดือนตุลาคม ที่ต่างกันดังนี้ อาจเนื่องมากจากความแตกต่างของฤดูกาล
เทศกาลปีใหม่มีขึ้นอย่างเป็นเอกภาพพร้อมเพรียงกัน หลังจากจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ประกาศใช้ปฏิทินไท่ชูลี่ เมื่อค.ศ. 105 แล้ว ดังนั้น อาจกล่าวว่า เทศกาลปีใหม่จีนหรือตรุษจีนเริ่มกำหนดอย่างเป็นทางการในรัชสมัยฮั่นอู่ตี้
     ในส่วนคติชาวบ้านก็มีนิทานพื้นบ้านอธิบายว่าทำไมจึงเรียกเทศกาลตรุษวสันต์ว่า “กั้วเหนียน” 过年 เช่นกัน ดังนี้

       ในรัชสมัยของจู๋อี่ โอรสสวรรค์องค์ที่ 14 แห่งราชวงศ์ซาง มีชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อ ว่านเหนียน 万年เห็นว่าการประกาศปฏิทินกำหนดฤดูกาลของราชสำนักมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากสภาพภูมิอากาศที่เป็นจริง อันก่อผลเสียหายแก่การกสิกรรมและการปศุสัตว์มาก ว่านเหนียนจึงพากเพียรพยายามติดตามศึกษาดาราศาสตร์ ศึกษาเงาตะวันจากนาฬิกาแดด เป็นต้น จนกระทั่งทราบต้นตอที่มาของความผิดพลาด การคำนวณปฏิทินแบบเดิม
ขณะนั้นโอรสสวรรค์จู่อี่เอง ก็ทรงร้อนพระทัยห่วงใยที่การกำหนดฤดูกาลไม่แม่นยำ แต่ทว่าอาเหิง อำมาตย์ผู้ควบคุมการคำนวณฤดูกาลไม่ยอมรับว่าตนด้อยความรู้ความสามารถ กลับเสนอจู่อี่ว่า การที่ฤดูกาลไม่ตรงกับที่ได้คำนวณกำหนดไว้นั้น เนื่องมาจากพลเมืองกระทำมิดีผิดผีลบลู่เทพยดาฟ้าดิน  โอรสสวรรค์จักต้องก่อสร้างหอมหึมาแล้วนำอำมาตย์ทั้งมวลขึ้นไปบวงสรวงเทพยดาฟ้าดินพร้อมกัน
      จู๋อี่ ทรงเชื่อตามที่อาเหิงเสนอ จึงทรงสั่งให้เก็บส่วยจากพลเมืองในแคว้น เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับบวงสรวงฟ้าดิน
      ฝ่ายว่านเหนียนเห็นว่าการทำเช่นนี้ มิอาจแก้ปัญหาอันใดได้เลย รังแต่จะเพิ่มความทุกข์ยากลำบากต่อราษฎรเป็นทวีคูณ ว่านเหนียนจึงขอเข้าเฝ้าจู๋อี่ แล้วอธิบายสาเหตุที่การคำนวณปฏิทินแบบเก่าผิดพลาดคลาดเคลื่อนให้จู๋อี่ฟัง
     จู๋อี่ทรงยอมรับหลักการของว่านเหนียน จึงระงับพิธีบวงสรวงนั่นเสีย แล้วสร้างหอดาราศาสตร์ให้ว่านเหนียนใช้ทำงานค้นคว้า
อาเหิงแทนที่จะดีใจที่วิทยาการจะก้าวหน้าขึ้น แกกลับอิจฉาริษยาว่านเหนียน เกรงว่าหากว่านเหนียนปรับปรุงปฏิทินสำเร็จ ตนจะถูกปลดออกจากตำแหน่งขุนนาง อาเหิงจึงว่าจ้างมือสังหารไปฆ่าว่านเหนียน
      แต่เนื่องจากว่านเหนียน ทำงานในหอดาราศาสตร์ทั้งกลางวันกลางคืน ภายนอกหอก็มีทหารพิทักษ์รักษาเวรยาม มือสังหารจึงหาโอกาสฆ่าว่านเหนียนไม่ได้สักที กาลผ่านไปเนิ่นนาน มือสังหารจึงตัดสินใจใช้ธนูลอบยิง ว่านเหนียนถูกธนูที่แขน แต่คนร้ายเองที่ถูกจับนำไปสอบสวนต่อหน้าจู๋อี่ เมื่อความลับเปิดเผยขึ้น อาเหิงจึงถูกประหาร

      ในคืนวันนั้นจู๋อี่ก็เสด็จไปเยี่ยมว่านเหนียนที่หอดาราศาสตร์ เมื่อไปถึงว่านเหนียนได้พูดว่า “ขณะนี้เป็นเวลาเที่ยงคืนพอดี ปีเก่ากำลังผ่านพ้น วสันตฤดูกำลังเริ่มต้น ขอพระองค์จงทรงตั้งชื่อวันนี้ไว้เป็นที่ระลึกเถิด”

     จู๋อี่ จึงทรงตั้งชื่อวันนั้นว่า ตรุษวสันต์ 春节 แล้วทรงชวนว่านเหนียนไปพักรักษาตัวในราชวัง แต่ว่านเหนียนยืนหยัดที่จะทำงานในหอดาราศาสตร์ต่อไป

      กาลเวลาผ่านไปอีกสามปี ว่านเหนียนจึงปฏิรูประบบปฏิทินเสร็จสมบูรณ์ แต่ทว่าบัดนี้ ว่านเหนียนผู้แต่เดิมยังเป็นหนุ่มฉกรรจ์ได้เปลี่ยนเป็นชายชราผมขาวโพลน โอรสสวรรค์จู๋อี่ทรงประทับพระทัยในอุตสาหะวิริยะของว่านเหนียน จึงทรงตั้งชื่อปฏิทินใหม่นั้นว่า “ปฏิทินว่านเหนียน” (ว่านเหนียนลี่) และทรงแต่งตั้งให้ว่านเหนียนเป็นเทพแห่งอายุวัฒนะ

      นี่เองคือต้นตอที่ชาวบ้านจีนเรียกตรุษวสันต์ว่า ‘กั้วเหนียน’และในเทศกาลนี้ชาวบ้านก็มักนิยมแขวนภาพ “เทพแห่งอายุวัฒนะ” (โส้วซิง) เพื่อรำลึกถึงคุณูปการความดีงามและคุณธรรมของ “ว่านเหนียน” นั่นเอง
ในช่วงเทศกาลตรุษจีนเราจะเห็นได้ว่าตามบ้านเรือนมักจะติดตัวอักษรจีนคำว่า ใบไม้ผลิ春 กับ  วาสนา福 โดยติดกลับหัว ซึ่งผมได้นำความหมายของการติดกลับหัว และความหมายของคำว่า “ใบไม้ผลิ” กับ “วาสนา”  มาให้สหายเราได้ร่วมศึกษากันครับ

เทศกาลโคมไฟ (หยวนเซียวเจี๋ย)
วันเทศกาลนี้ตามปฏิทินจันทรคติคือ วันที่ 15 หลังจากวันตรุษจีน วันนี้เป็นวันประเพณีที่ชาวจีนเล่นโคมไฟ จึงเรียกว่าเทศกาลโคมไฟ
วันเทศกาลโคมไฟไม่เป็นวันหยุดราชการ แต่ประชาชนก็ให้ความสนใจที่จะฉลอง เทศกาลนี้ โดยเฉพาะในชนบทจะอึกทึกเป็นพิเศษ ประชาชนนอกจากจะได้ดูการแสดง และการละเล่นหลายชนิดแล้วยังมีรายการฉลองโคมไฟอีกมากมาย ที่ผู้คนดูกันมากที่สุดเห็นจะได้แก่ขบวนพาเหรดที่ที่มีการแต่งตัวด้วยอาภรณ์แบบโบราณ ขณะเดินเคลื่อนที่ไปก็จะมีการแสดงประกอบตามไปด้วย ประเพณีนี้ซึ่งมีการฉลองทุกภาค ตั้งแต่ภาคเหนือถึงภาคใต้ ต่างมีการแสดงที่สำคัญคือการเชิดมังกร และสิงโต
ในการฉลองเทศกาลนี้จะเป็นเทศกาลที่ญาติพี่น้องซึ่งอยู่ห่างกันได้กลับมาพบกัน ชาวภาคใต้มีประเพณีนำ หยวนเซียว ซึ่งมีลักษณะเป็นลูกกลมสีขาวมีไส้ ต้มในน้ำขิง ( เหมือนบัวลอยน้ำขิง) ของกินนี้ออกเสียงเรียกกันว่า ถวนหยวน ซึ่งแปลว่า คืนสู่เหย้า ถือว่าเป็นโอกาสแห่งความเป็นสิริมงคล
เทศกาลฉงหยาง 

วันที่ 9เดือน 9 ตามปฏิทินจันทรคติของจีนเป็นเทศกาลเก่าแก่ของจีนคือเทศกาลฉงหยาง เมื่อถึงวันนั้น  ชาวจีนมีประเพณีไต่เขาชมดอกเก๊กฮวย ปักต้นจูหยูและกินขนมฮวาเกา
เนื่องจากชาวจีนสมัยโบราณเชื่อกันว่า ตัวเลข 9 เป็นเลขหยาง วันที่ 9 เดือน 9 มี 9 สองตัวหรือหยางเป็นคู่ จึงเป็นวัน”ฉงหยาง”  เกี่ยวกับที่มาของเทศกาลฉงหยาง มีนิทานเล่ากันว่า เมื่อศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสต์กาล มีเซียนที่มีอิทธิฤทธิ์มากองค์หนึ่งชื่อเฟ่ยฉางฝาง เขาไม่เพียงแต่สามารถเรียกลมเรียกฝนได้เท่านั้น หากยังสามารถขับไล่ภูตผีปีศาจได้ด้วย มีหนุ่มคนหนึ่งชื่อหวนจิ่งเป็นลูกศิษย์ของเฟ่ยฉางฝาง วันหนึ่ง เฟ่ยฉางฝางกล่าวกับหวนจิ่งว่า“ในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 นี้ ทางบ้านเธอจะประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรง เธอต้องเตรียมตัวไว้”หวนจิ่งได้ยินดังนั้นก็ตกใจมาก รีบคุกเข่าขอให้อาจารย์บอกวิธีหลบภัย เฟ่ยฉางฝางกล่าวว่า“วันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 เธอเตรียมถุงผ้าสีแดงไว้หลายๆใบ ข้างในใส่ใบจูหยู แล้วมัดไว้ที่ต้นแขน และอย่าลืมพกเหล้าที่แช่ดอกเก๊กฮวยด้วย พาสมาชิกทั้งครอบครัวไปดื่มเหล้าเก๊กฮวยบนเขาสักแห่งหนึ่ง  ครอบครัวของเธอก็จะรอดพ้นภัยร้ายแรงครั้งนี้ได้”จากนั้น หวนจิ่งก็ปฏิบัติตามทุกอย่างที่อาจารย์สอนให้ พอถึงเช้าตรู่วันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 หวนจิ่งพาครอบครัวขึ้นไปอยู่บนเนินเขาแห่งหนึ่ พวกเขาดื่มเหล้ากันจนค่ำุจึงกลับบ้าน พอก้าวเข้าบ้านปรากฏว่า สัตว์เลี้ยงที่บ้านทั้งเป็ดไก่หมูหมาล้วนตายหมด ครอบครัวของหวนจิ่งรอดตายจริงๆ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ประเพณีการไต่เขา ปักต้นจูหยูและดื่มเหล้าเก๊กฮวยในวันขึ้น 9 ค่ำเดือน 9 จึงแพร่หลายจนถึงทุกวันนี้
หวังเหวย กวีสมัยราชวงศ์ถัง เขียนกลอนเกี่ยวกับเทศกาลฉงหยางไว้บทหนึ่งชื่อว่า“วันที่ 9 เดือน 9 คิดถึงญาติพี่น้องทางบ้าน”ดังนี้
เป็นแขกแปลกหน้าอยู่ต่างถิ่นแต่ผู้เดียว
ย่อมคิดถึงญาติพี่น้องเป็นสองเท่ายามเทศกาลมงคล
ทราบจากทางไกลว่าญาติพี่น้องยืนบนยอดสูง
เวลาปักต้นจูหยูปรากฏว่าขาดฉันไปหนึ่งคน
ขณะแต่งกลอนบทนี้ หวังเหวยมีอายุเพียง 10 กว่าปี เขาพำนักอยู่ในกรุงปักกิ่งเพียงคนเดียว จึงอดคิดถึงบ้านไม่ได้ โดยเฉพาะยามเทศกาลมาถึง  เห็นครอบครัวอื่นๆอยู่พร้อมหน้ากัน ยิ่งทำให้คิดถึงญาติพี่น้องทางบ้าน ยามเทศกาลฉงหยางมาถึง ทุกคนจะติดใบจูหยูไว้กับตัว แต่ครอบครัวของตนกลับขาดเขาไปคนหนึ่ง
ประเพณีอีกอย่างหนึ่งในเทศกาลฉงหยางคือ กินขนมฉงหยางเกา เนื่องจากคำว่า”เกา” ที่แปลว่าขนม พ้องเสียงกับอีกคำหนึ่งที่แปลว่า สูง จึงมีความหมายแฝงว่า ได้ดิบได้ดีและไต่สูงขึ้นเรื่อยๆ ขนมนึ่งชนิดหนึ่งที่ทำด้วยแป้งข้าวเหนียวและพุทราและปักธง 5 สีใบเล็กๆ เรียกว่า  “ฮวาเกา”  ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามเขตที่ราบที่ไม่มีภูเขาจะให้ไต่ในเทศกาลฉงหยาง ก็จะกินขนมฮวาเกาแทนการไต่เขา
ชาวจีนในสมัยโบราณเชื่อว่า เทศกาลฉงหยางเป็นเทศกาลแห่งอายุยืนยาว การปฏิบัติตามประเพณีต่างๆในเทศกาลฉงหยางสามารถทำให้มีอายุมั่นขวัญยืน
ทุกวันนี้ ชาวจีนยังคงมีประเพณีไต่เขาและชมดอกเก๊กฮวย ร้านค้าต่างๆจะขายขนมฮวาเกาในวันฉงหยาง ปีหลังๆมานี้ จีนยังได้กำหนดวันที่ 9 เดือน 9 นี้เป็นเทศกาลเคารพคนชรา เนื่องจากการออกเสียงของคำว่า 9 นั้น พ้องกับอีกคำหนึ่งซึ่งแปลว่า ยืนยาว ซึ่งมีความหมายแฝงว่า อายุยืนยาว ทำให้เทศกาลฉงหยางนอกจากมีความหมายดั้งเดิมแล้ว ยังเพิ่มความหมายใหม่ที่ว่า เคารพคนชราและขอให้คนชรามีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืนยาว
เทศกาลตวนอู่ 

วันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติของจีนเป็นเทศกาลตวนอู่ของจีน เทศกาลตวนอู่ เทศกาลตรุษจีนและเทศกาลจงชิวหรือเทศกาลไหว้พระจันทร์เป็นเทศกาลใหญ่สามเทศกาลของจีน
สาเหตุที่ตั้งชื่อเทศกาลนี้ว่า“ตวนอู่”ก็เพราะว่า คำว่า“ตวน”ในภาษาจีนหมายถึงต้นหรือเริ่มต้น  วันที่ 5 เดือน 5 อยู่ในต้นเดือน 5   ส่วนตัวเลข 5 นั้นออกเสียงว่า“อู่ ” วันที่ 5 เดือน 5จึงเรียกว่า“ตวนอู่”
เกี่ยวกับความเป็นมาของเทศกาลตวนอู่ มีเรื่้องเล่าหลายอย่าง บางคนเห็นว่าเทศกาลตวนอู่สืบเนื่องจากประเพณี“เสี้ยจื้อ”หรือประเพณีฉลองการย่างเข้าฤดูร้่อนในสมัยโบราณ บางคนเห็นว่าเทศกาลนี้สืบเนื่องจากความเชื่อของประชาชนสมัยโบราณที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำแยงซีซึ่งบูชามังกรเป็นโทเทน แต่ตำนานเกี่ยวกับความเป็นมาของเทศกาลตวนอู่ที่แพร่หลายมากที่สุดคือ ตำนานที่เล่ากันว่าเทศกาลตวนอู่เป็นเทศกาลเพื่อรำลึกชวูหยวน นักกวีผู้รักชาติในสมัยโบราณของจีน
ชวูหยวนเป็นชาวก๊กฉู่ในยุคศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล หลังจากปิตุภูมิถูกก๊กอื่นยึดครองไปแล้ว ชวูหยวนกระโดดแม่น้ำมี่หลัวเจียงฆ่าตัวตายด้วยความแค้นเคือง  วันนั้นตรงกับวันที่ 5 เดือน 5    ต่อมา พอถึงวันที่ 5 เดือน 5 ของทุกปี ประชาชนจะใช้ปล้องไผ่ใส่ข้าวสวยไว้ข้างใน โยนลงไปในแม่น้ำให้ปลากิน พร้อมภาวนาขอให้ปลาอย่ากินศพของชวูหยวน ต่อมา ปล้องไผ่ที่ใส่ข้าวสวยก็ค่อยๆพัฒนามาเป็นขนมบ๊ะจ่าง
การกินขนมบ๊ะจ่างเป็นประเพณีสำคัญที่สุดในเทศกาลตวนอู่ วิธีทำขนมบ๊ะจ่างคือ ใช้ใบอ้อหรือใบไผ่ห่อข้าวเหนียว แล้วใช้ด้ายมัดให้แน่นเป็นรูปกรวยหรือรูปหมอน เสร็จแล้วนำไปต้มหรือนึ่งให้สุก ก่อนเทศกาลตวนอู่จะมาถึง  ทุกบ้านต้องทำขนมบ๊ะจ่าง พอถึงวันเทศกาล จะหิ้วขนมบ๊ะจ่างที่ทำเองไปเยี่ยมญาติมิตร
อาหารที่นิยมกินกันในเทศกาลตวนอู่นอกจากขนมปะจ่างแล้ว ยังมีไข่เค็ม เหล้าสุงหวง ซึ่งแต่ละอย่างล้วนมาจากความเชื่อเกี่ยวกับการสะเดาะเคราะห์ทั้งนั้น
นอกจากอาหารการกินแล้ว เมื่อถึงเทศกาลตวนอู่ ทุกบ้านต้องแขวนสมุนไพรสองชนิดไว้บนหน้าประตูบ้าน ด้านหนึ่งเพื่อขับไล่สิ่งอัปมงคล อีกด้านหนึ่งก็เพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ เนื่องจากในช่วงเวลาที่เพิ่งย่างเข้าฤดูร้อนนั้น มีฝนชุก อากาศชื้น เชื้อโรคจึงเกิดขึ้นง่าย การแขวนสมุนไพรสองชนิดนี้ไว้ที่หน้าประตูสามารถป้องกันโรคได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีประเพณีการใช้ด้ายห้าสีพันข้อมือของเด็ก เชื่อกันว่าเด็กจะได้มีอายุยืนยาวร้อยปี และจะเย็บกระเป๋าใบเล็กๆเป็นรูปเสือบ้าง รูปลูกน้ำเต้าบาง ข้างในใส่เครื่องหอม แขวนไว้ที่หน้าอกของเด็ก นอกจากนี้ ยังจะให้เด็กสวมรองเท้ารูปหัวเสือ และใส่ผ้าเอี๊ยมที่ปักรูปเสือ เพราะเชื่อว่าการทำเช่นนี้สามารถปกป้องเด็กให้พ้นจากโชคร้ายและความอัปมงคล
ในพื้นที่ตอนกลางและตอนปลายของลุ่มแม่น้ำแยงซี การแข่งเรือมังกรเป็นประเพณีที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในเทศกาลตวนอู่ เล่ากันว่า ประเพณีแข่งเรือมังกรก็เกี่ยวข้องกับชวูหยวนเช่นกัน  คือ เมื่อประชาชนทราบว่าชวูหยวนกระโดดแม่น้ำแล้ว ก็พากันพายเรือไปช่วยชีวิตเขาอย่างสุดความสามารถ ต่อมา ก็ค่อยๆกลายเป็นประเพณีการแข่งเรือมังกรในเทศกาลตวนอู่ การแข่งเรือมังกรมักจัดอย่างใหญ่โตมโหฬาร บางครั้งมีเรือเข้าร่วมถึง 50-60 ลำ เรือแต่ละลำจะประดับด้วยหัวมังกรในรูปทรงต่่างๆที่มีสีสันสดใส บนเรือตีฆ้องตีกลองดังสนั่นลั่นฟ้า เีสียงโห่ร้องไชโยดังขึ้นระลอกแล้วระลอกเล่า เรือแต่ละลำไล่กวดกันบนผิวน้ำ บนฝั่งมีธงหลากสีสะบัดพริ้วไปตามสายลม มีผู้มาชมการแข่งขันเต็มสองฝั่ง บรรยากาศครึกโครมอย่างยิ่ง
เทศกาลหยวนเซียว 
วันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้ายตามปฏิทินจันทรคติของจีนเป็นเทศกาลหยวนเซียว ซึ่งเป็นเทศกาลเก่าแก่อีกเทศกาลหนึ่งของจีน และเป็นเทศกาลที่ต่อจากเทศกาลตรุษจีน
คืนของเทศกาลหยวนเซียวเป็นคืนแรกของปีใหม่ที่เห็นพระจันทร์เต็มดวง คืนนั้น มีประเพณีแขวนโคมไฟ ดังนั้น เทศกาลหยวนเซียวมีอีกชื่อหนึ่งว่า“เทศกาลโคมไฟ” การชมโคมไฟและการกินขนมหยวนเซียวเป็นกิจกรรมสำคัญของเทศกาลหยวนเซียว เหตุใดต้องแขวนโคมไฟในเทศกาลหยวนเซียว
เล่ากันว่า เมื่อปี 180 ก่อนคริสต์กาล กษัตริย์ฮั่นเหวินตี้ของราชวงศ์ฮั่นขึ้นครองราชย์ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้าย เืพื่อฉลองเรื่องนี้ กษัตริย์ฮั่นเหวินตี้กำหนดวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้ายเป็นเทศกาลโคมไฟ พอถึงคืนนั้น พระองค์จะเสด็จออกจากวังไปร่วมสนุกกับประชาชน วันนั้น ไม่ว่าบ้านเล็กบ้านใหญ่ ตรอกซอกซอยล้วนจะแขวนโคมไฟหลากสีที่มีรูปลักษณะต่างๆให้ชมกัน  ถึงปี 104 ก่อนคริสตกาล เทศกาลหยวนเซียวได้รับการกำหนดเป็นเทศกาลสำคัญแห่งชาติ ทำให้การฉลองเทศกาลหยวนเซียวมีขนาดใหญ่โตยิ่งขึ้น ตามข้อกำหนด สถานที่สาธารณะต่่างๆและทุกบ้านต้องประดับโคมไฟ โดยเฉพาะย่านการค้าและศูนย์วัฒนธรรมต้องจัดงานโคมไฟขนาดใหญ่ ไม่ว่าผู้หญิงผู้ชาย เด็กหรือผู้เฒ่าล้วนจะไปชมโคมไฟ ทายปริศนาโคมไฟและเชิดโคมไฟมังกรตลอดคืน ต่อมา ประเพณีนี้ได้สืบทอดกันมาทุกยุคทุกสมัย ตามการบันทึก ปีค.ศ. 731 สมัยราชวงศ์ถางเคยทำภูเขาโคมไฟสูง 7 เมตรที่ประกอบด้วยโคมไฟกว่า 5 หมื่นดวงตั้งอยู่ในเมืองฉางอัน เมืองหลวงของราชวงศ์ถาง
โคมไฟที่แขวนโชว์ในเทศกาลหยวนเซียวส่วนมากจะทำด้วยกระดาษสีต่างๆ จะทำเป็นรูปภูเขา สิ่งก่อสร้าง คน ดอกไม้ นกและสัตว์ชนิดต่างๆ โคมไฟ“โจ่วหม่าเติง”เป็นโคมไฟที่มีเอกลักษณ์ของจีนอย่างเด่นชัด โคมไฟ“โจ่วหม่าเติง”เป็นของเล่นชนิดหนึ่ง มีประวัติกว่าพันปีแล้ว ภายในโคมไฟได้ติดตั้งล้อวงจักร พอจุดเทียนในโคมไฟ กระแสอากาศที่ได้รับความร้อนจากเปลวเทียนจะดันวงจักรที่ติดกระดาษรูปคนขี่ม้าในอิริยบถต่างๆหมุนไปตามวงจักร เงาของรูปคนขี่ม้าจะสะท้อนอยู่บนกระดาษชั้นนอกของโคมไฟ มองแล้วเสมือนม้ากำลังวิ่งห้อตะบึง
การกินขนมหยวนเซียวเป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งของเทศกาลหยวนเซียว สมัยราชวงศ์ซ่ง ประชาชนนิยมกินขนมพื้นบ้านชนิดหนึ่งในเทศกาลโคมไฟ ขนมชนิดนี้มีรูปลักษณ์กลม ทำด้วยแป้งข้าวเหนียว ข้างในมีไส้หวาน ภาคเหนือของจีนเรียกขนมชนิดนี้ว่า“หยวนเซียว”ส่วนภาคใต้เรียก“ทังหยวน” หรือ“ทังถวน”
ปัจจุบัน ขนมหยวนเซียวมีไส้หลายสิบชนิด เช่น ซันจา พุทรา ถั่วแดง โหงวยิ้น งา เนยและช็อกโกแลตเป็นต้น รสชาติของหยวนเซียวในพื้นที่ต่างๆจะแตกต่างกัน
นอกจากชมโคมไฟและกินขนมหยวนเซียวแล้ว เทศกาลหยวนเซียวยังมีกิจกรรมละเล่นต่างๆมากมาย เช่น ระบำไม้ต่อขา รำพัด เชิดสิงห์โตเป็นต้น  โดยเฉพาะการเชิดสิงห์โต มิเพียงแต่ในปะเทศจีนเท่านั้น ไม่ว่าแหล่งชุมชนชาวจีนในแห่งหนตำบลใดของโลกก็ตาม พอถึงเทศกาลสำคัญๆก็จะจัดการแสดงเชิดสิงห์โตทั้งนั้น การเชิดสิงห์โตแบ่งเป็นสำนักใต้กับสำนักเหนือ การเชิดสิงห์โตของสำนักใต้เน้นอิริยาบถและเทคนิคท่วงท่า ส่วนมากใช้สองคนเชิด  ส่วนสำนักเหนือจะเน้นความสง่าผ่าเผย ปกติจะมี 10 กว่าคนกระทั่งหลายสิบคนเชิดด้วยกัน ขณะเชิดสิงห์โตนั้น จะมีดนตรีพื้นเมืองของจีนเล่นประกอบด้วย ไม่ว่าผู้แสดงหรือผู้ชม ต่างสนุกสนานกันถ้วนหน้า ทำให้บรรยากาศของเทศกาลหยวนเซียวคึกคักยิ่ง
นิทานเกี่ยวกับฉูซีหรือวันส่งท้ายปีเก่า 

คืนสุดท้ายของเดือนอ้ายตามปฏิทินจันทรคติของจีนเรียกว่าฉูซี คำว่า ฉู มีหมายความว่าตัดทิ้ง คำว่า ซี  หมายความว่าคืน คำว่าฉูซีก็คือตัดทิ้งคืนสุดท้ายของปีเก่าเพื่อต้อนรับปีใหม่ ในประเทศจีน ฉูซียังมีชื่ออื่นเช่นฉู เหนียนเย่หรือ ซาจับเม้
ในจีนมีประเพณีพื้นเมืองเกี่ยวกับฉูซีมากมาย สิ่งสำคัญอันแรกคือทำความสะอาด หลายวันก่อนคืนส่งท้ายปีเก่า ผู้คนจะกวาดบ้านถูพื้นให้สะอาด พอถึงวันส่งท้ายปีเก่าจะทำความสะอาดครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อขจัดของเก่าและรับรองของใหม่ ประเพณีอันนี้มาจากนิทานเรื่องเล่าว่า ในสมัยโบราณมีชายคนหนึ่งที่ขี้เกียจทำงาน ใส่เสื้อเก่าสกปรก กินข้าวต้มที่มีแต่น้ำไม่มีข้าว ในคืนส่งท้ายปีเก่าของปีใด ปีหนึ่ง ชายคนนี้ก็อดข้าวและหนาวตายในบ้าน ดังนั้นพอถึงวันส่งท้ายปีเก่า ผู้คนจึงพากันทิ้งเสื้อผ้าเก่าและอาหารที่เหลือก่อนปีใหม่ เพื่อไม่ให้ความยากจนมาถึงบ้านของตน
หลังจากทำความสะอาดแล้ว จะติดคำกลอนคู่บนประตูบ้านของตน และแขวนโคมไฟเพื่อสร้างบรรยากาศเทศกาล คืนส่งท้ายปีเก่าหรือ ฉูซี จะดื่มน้ำดื่มชนิดหนึ่งชื่อว่า ถูซู ซึ่งผลิตจากเหล้าหรือน้ำ เล่ากันว่า มีคนโบราณคนหนึ่งอาศัยอยู่ในกระท่อมหลังหนึ่งชื่อ ถูซู คนนี้เป็นคนพิเศษมาก เขาทำงานขุดหาสมุนไพรในป่าเขาโดยเฉาพาะ พอถึงวันฉูซีก็เอาสมุนไพรจีนที่ปรุงเสร็จแล้วไปส่งตามหมู่บ้าน และบอกกับชาวบ้านว่า ให้ทั้งครอบครัวดื่มในวัน ชิวอิ๊ต หรือวันขึ้นปีใหม่จีน ยานี้สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บและขจัดภัยต่าง ๆ ได้ เขายังบอกตำรายาให้ชาวบ้านอย่างเปิดเผย ดังนั้น ชาวบ้านท้องถิ่นจึงเรียกยาชนิดนี้ว่า ถูซู ยาตัวนี้ประกอบด้วยสมุนไพรจีน 7 ชนิด สามารถป้องกันรักษาโรคได้ดี
คืนส่งท้ายปีเก่ามีประเพณีโต๊ะรับประทานอาหารพร้อมหน้ากัน ในวันนี้ สมาชิกครอบครัวทุกคนต้องกลับมาบ้านพ่อแม่พร้อมหน้าพร้อมต้ากัน จัดอาหารอร่อยที่สุดมาวางเต็มโต๊ะ ร่วมกันฉลองวันส่งท้ายปีเก่า
ในท้องที่ต่าง ๆ ของจีน อาหารบนโต๊ะจะไม่ค่อยเหมือนกัน ในภาคใต้ อาหารมื้อนี้จะมีกับข้าวสิบกว่าอย่าง ในนี้ต้องมีต้าวหู้และปลา เพราะออกเสียงคล้ายกับคำว่าฟู่อยู้ซึ่งมีความหมายแปลว่าร่ำรวย ในภาคเหนืออาหารบนโต๊ะส่วนมากจะเป็นเกี๊ยวน้ำ สมาชิกทุกคนในครอบครัวร่วมมือกันทำ เอาใส้หมูสดใส่ในหนังแป้งบาง ๆ แล้วต้มในน้ำเดือด พอต้มสุกแล้ว สมาชิกทั้งครอบครัวรวมตัวกันนั่งกินเกี๊ยวเพื่อให้ได้ความหมายอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันเป็นครอบครัวที่อบอุ่นสนิทกัน
ค่ำวันส่งท้ายปีเก่าหรือฉูซี ผู้ใหญ่พาลูก ๆ ไปใอบของขวัญให้บ้านเพื่อน ๆ หรือญาติพี่น้องเพื่อฉลองปีใหม่ เรียกว่า ขวุ้ยเสว้ย การเชิญคนอื่นมาทานข้าวที่บ้านเรียกว่า เปี๋ยเสว้ย หลังจากทานข้าวเสร็จแล้ว ก่อนกลับบ้านจะให้คำอวยพรแก่กันเรียกว่า ส่านเสว้ย ส่วนลูกหลานในบ้านจะกล่าวแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จะมีคำสอนคำอวยพรต่อลูกหลาน และให้อั่งเปาแก่เด็ก ๆ ในบ้าน สุดท้ายกล่าวอวยพรปีใหม่อีกที นนี่เรียกว่า ฉือเสว้ย ค่ำวันนี้ ผู้คนต่างไม่ยอมเข้านอน ทั้งครอบครัวจะดูโทรทัศน์หรือเล่นไพ่กันจนถึงเวลาปีใหม่มาถึง นี่เรียกว่า โส่วเสว้ย
โส่วเสว้ย เป็นกิจกรรมในคืนส่งท้ายปีเก่าที่ชาวจีนนิยมมาก นายลู่เหยียวนักกวีโบราณจีนที่มีชื่อเสียงเคยแต่งกลอน โส่วเส้วย เขียนถึงเด็ก ๆ ทั้งหลายที่ไม่ยอมเข้านอน เล่นเฮฮากันทั้งคืน ในคืนฉูซี เด็ก ๆ ทั้งหลายดีใจที่สุด เพราะวันปกติจะถูกพ่อแม่ควบคุม แต่วันนี้ไม่มีใครมาไล่ให้เข้ารนอน สามารถโส่วเสว้ยอยู่กับพ่อแม่จนถึงท้องฟ้าสว่างปีใหม่มาถึง เต็มไปด้วยบรรยากาศปิติยินดีที่ส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่
เทศกาลวันเช็งเม็ง 

วันเช็งเม๊งเป็น 1 ของ 24 ฤดูกาลตามจันทรคติของจีน ส่วนมากจะเป็นช่วงเวลาต้นเดือนเมษายนตามปฏิทินสมัยปัจจุบัน พอถึงวันนี้ ผู้คนจะเดินทางไปชานเมือง เพื่อกราบไหว้รรพบุรุษ เดินเที่ยวชมวิว และเก็บกิ่งหลิวกลับมาเสียบประตูบ้าน
ในท้องที่บางแห่งของจีนเรียกวันเช็งเม็งว่าเป็นเทศกาลผี จะเห็นได้ว่านี่เป็นวันเส้นไหว้บรรพบุรุษ เวลาก่อนและหลังวันเช็งเม็ง ทุกครอบครัวจะไปไหว้หลุมบรรพบุรุษ ตัดทิ้งญ้ารกที่ขึ้นตามหลุมศพ เพิ่มดินใหม่บนหลุม แล้วจุดธูปเทียน เผากระดาษเงินกระดาษทองกราบไหว้แสดงความไว้อาลัย มีกลอนโบราณยุคซ้องได้บรรยายถึงสภาพของประเพณีไหว้หลุมศพว่า สุสานบนเขาเหนือใต้ ผู้คนกราบไหว้วันเช็งเม็ง กระดาษเงินทองปลิวว่อนคลั่งผีเสื้อ เลือดและน้ำตาหลั่งชะโลมดอกตู้เจียนให้แดงสะพรั่ง
เล่ากันว่าวันเชงเม๊งเริ่มขึ้นในสมัยราชวงค์ฮั่น (ก่อนค.ศ.206 – ค.ศ 220) จนถึงสมัยราชวงค์หมิงและสมัยราชวงค์ชิง พิธีไหว้หลุมบรรพบุรุษพัฒนาถึงขั้นสูงสุด บางคนมิเพียงแต่เผากระดาษเงินกระดาษทองที่หน้าสุสานแล้ว ยังทำกับข้าว 10 อย่างไปวางไว้หน้าสุสานด้วย
การไหว้่สุสานบรรพบุรุษในเทศกาลเช็งเม็งเป็นประเพณีสำคัญของจีน และสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน เพียงแต่ว่าพิธีไหว้จะเรียบง่ายกว่าสมัยก่อน มีรูปแบบทั้งการไหว้ของแต่ละครอบครัว และการไหว้ที่จัดโดยองค์กรและหมู่คณะต่าง ๆ  โดยผู้คนจะพากันไปไหว้สุสานของวีรบุรุษที่สละชีพเพื่อชาติ โดยวางดอกไม้สดหรือต้นสนต้นเล็กเพื่อแสดงความไว้อาลัย
วันเช็งเม็งอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของจีน แม้ว่างานนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการไหว้บรรพบุรุษเป็นหลักก็ตาม แต่ในระหว่างประวัติศาสตร์อันยาวนานนั้น ผู้็้คนยังถือโอกาสนี้เป็นการออกนอกบ้านท่องเที่ยวตามชานเมือง ชมต้นไม้สีเขียวที่ไม่ได้เห็นในฤดูหนาวเป็นเวลาหลายเดือน ท้องที่บางแห่งของจีนจึงเรียกเทศกาลเช็งเม็งว่าเป็นเทศกาลวันเหยียบสีเขียว
ในสมัยโบราณยังมีประเพณีที่เดินเที่ยวชมสีเขียวตามชานเมืองและเด็ดดอกไม้ของผักสดชนิดหนึ่งชื่อว่า ฉีไช่ แต่ประเพณีนี้ยากที่จะเห็นได้ในสมัยปัจจุบัน คือก่อนและหลังวันเช็งเม็ง ผู้หญิงหรือสาว ๆ มักจะออกจากบ้านไปเที่ยวตามชานเมืองและเด็ดผักป่าสด ๆ กลับมาบ้าน ทำเป็นใส้เกี๊ยวน้ำ รสชาติอร่อยมาก ผู้หญิงบางคนยังเอาดอกสีขาวของผักฉีทำเป็นปิ่นผม ช่วงเทศกาลเช้งเม็ง ชาวจีนยังนิยมการเล่นวาก เล่นชักคะเย่อและเล่นชิงช้าเป็นต้น
ทำไมวันเช้งเม็งใช้คำว่าเช็งเม็ง ตามภาษาจีนกลาง เช็งเม็งหมายความว่าสดชื่น สว่างและแจ่มใส ก็เพราะว่าช่วงนี้เป็นต้นฤดูใบไม้ผลิ ท้องฟ้าแจ่มใสอากาศสดชื่น ญ้ากำลังขึ้นเขียว ป่าไม้เริ่มผลิดอกออกใบ  เป็นช่วงเวลาเริ่มทำไร่ไถน่า ในสำนวนการเกษตรของจีนมีการบรรยายถึงเทศกาลเช็งเม็งกับการเกษตร เช่น ชิงหมิงเฉียนโฮ่ว จ้งกวาจ้งโต้ว ความหมายคือก่อนและหลังช่วงเวลาเช็งเม็ง เป็นเวลาเหมาะสมที่จะปลูกแตงปลูกถั่ว และยังมีสำนวนกล่าววว่า การปลูกต้นไม้ต้นใหม่ต้องไม่เกินเทศกาลเช็งเม็ง ช่วงเวลาก่อนเช็งเม็งพืชอะไรก็ปลูกขึ้นได้ดีหมด
ในเทศกาลเช็งเม็งยังมีกิจกรรมปลูกต้นไม้ มีกลอนโบราณจีนที่บรรยายทิวทัศน์ว่า ต้นหลิวทั่วเมืองออกใบสีเขียวอ่อนเหมือนหมอกสีเขียวเต็มท้องฟ้า ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของช่วงเทศกาลเช็งเม็ง
นิทานเกี่ยวกับไหว้เจ้าแห่งเตาไฟ 

ช่วงเวลากว่า 2000 ปีที่ผ่านมา จีนมีประเพณีไหว้เจ้าในวันที่ 23 เดือนอ้ายตามจันทรคติ เพื่อแสดงขอบคุณเจ้าแห่งเต้าไฟ
เจ้าแห่งเตาไฟเป็นเทวดาในเทพนิยายจีนโบราณ เป็นข้าราชการที่พระเจ้าอยี้หวงแห่งสวรรค์จัดส่งไปดูแลทุก ๆ ครอบครัวในโลกมนุษย์ แต่ละปี เจ้าแห่งเตาไฟต้องกลับขึ้นไปบนสวรรค์เพื่อรายงานสภาพของครอบครัวต่าง ๆ ให้พระเจ้าหยี้หวงรับทราบ ผู้คนจึงต้องเอาใจเจ้าแห่งเตาเพื่อจะได้รับคำชมจากเขา    จึงกลายเป็นประเพณีไหว้เจ้าแห่งเจาไฟในแต่ละปี นิทานเกี่ยวกับการไหว้เจ้าแห่งเจาไฟมีมากมาย และสนุกด้วย
เล่ากันว่าในโบราณมีเศสฐีคนหนึ่งชื่อจางเซิง เมียของเขาชื่อติงเซียง หน้าตาสวยงามและนิสัยดีมาก ทีแรก สามีภรรยาคู่นี้อยู่ร่วมกันอย่างดีและใช้ชีวิตด้วยกันอย่างมีความสุข ต่อมาวันหนึ่ง จางเซิงทำไปธุรกิจนอกบ้าน ได้พบสาวสวยคนหนึ่งชื่อไห่ถัง เกิดติดใจขึ้มาทันที นางสาวไห่ถังก็เห็นแก่ความร่ำรวยของนายจางเซิง จึงเอาอกเอาใจเขา ไม่นาน นายจางเซิงก็รับนาวสาวไห่ถังเข้าบ้านเป็นเมียน้อย แต่ไห่ถังเห็นว่าติงเซียงสวยกว่าตน และเป็นเมียหลวงด้วย จึงเกิดอารมณ์อิจฉา และบังคับให้นายจางเซิงขับไล่ติงเซียงออกจากบ้าน
ต่อจากนั้น จางเซิงกับไห่ถังก้เอาแต่กิน ๆ เล่น ๆ ทุกวัน ไม่ถึงสองปี เงินทองก็ถูกใช้จนหมดแล้ว ไห่ถังเห็นว่านายจางเซิงกลายเป็นคนจนแล้ว ก็เลยออกจากบ้านไปแต่งงานกับคนอื่น นายจางเซิงต้องเร่ร่อนขอทานไปตามถนน วันหนึ่งหิมะตกหนักมาก นายจางเซิงทั้งหนาวทั้งหิว สุดท้ายก็ล้มลงที่หน้าบ้านคนรวยคนหนึ่ง สาวรับใช้ของบ้านนี้เห็นแล้วก็รีบพาเขาเข้าห้องครัว และบอกกับคุณนายผู้หญิงเจ้าขอบ้าน สักครู่คุณนายผู้หญิงก็มาดูเขา นายจางเซิงลืมตาเห็นเจ้าของบ้าน ตกใจครั้งใหญ่ เพราะเจ้าของบ้านก็คือติงเซียงที่ถูกเขาทอดทิ้งเมื่อสองปีก่อนนั่นเอง นายจางเซิงรู้สึกอับอายมาก  จึงรีบหาที่ซ่อนตัว  พอเห็นเตาหุงอาหารในครัว ก็ซุกตัวเข้าไปข้างในเตา ติงเซียงเข้ามาถึงห้องครัวไม่เห็นคนขอทาน รู้สึกแปลกใจมาก มองไปมองมา ได้เห็นมีอะไรอุดอยู่ที่ปากเตา จึงดึงออกมา พอเห็นหน้าก็รู้ว่าเป็นสามีเก่าของตนแต่ถูกเผาตายเสียแล้ว ติงเซียงเศร้าโศกอย่างยิ่งและเสียชีวิตในอีกไม่นานต่อมา พระเจ้าอยี้หวงรู้เรื่องนี้แล้ว คิดว่านายจางเซิงกล้ายอมรับความผิดของตน ยังคงเป็นคนที่ใช้ได้ ก็เลยแต่งตั้งให้เขาเป็นเจ้าแห่งเจาไฟ และให้ติงเซียงเป็นเจ้าแห่งเจาไฟหญิง คนรุ่นหลังจึงได้ตั้งป้ายเจ้าแห่งเจาไฟสองที่พร้อมกันและบูชาในห้องครัว
ในสมัยโบราณ ผู้คนหวังว่าเจ้าแห่งเจาไฟเพียงจะรายงานเรื่องดี ๆในครอบครัวของตนให้พระเจ้าอยี้หวงรับทราบ ก็เลยเอาน้ำตาล จ้าวถัง เป็นของไหว้บูชาด้วย น้ำตาล จ้าวถัง เป็นน้ำตาลข้าวมอลท์ชนิดหนึ่ง ทั้งหวานและเหนียว พอใส่เข้าปากแล้ว เหนียวจนติดฟัน ผู้คนเอาน้ำตาลชนิดนี้ถวายเจ้าแห่งเตาไฟ คิดว่าพอเจ้าแห่งเจาไฟกินน้ำตาล จ้าวถัง เข้าปากแล้วคงจะปากหวานขึ้น และจะรายงานแต่เรื่องที่ดีไม่พูดเรื่องเสีย ความเชื่อดังกล่าวก็คงเป็นความหวังที่แสนตลกและน่าขบขันชนิดหนึ่งเท่านั้น
วัฒนธรรมจีนอย่างหนึ่งที่น่าศึกษาครับ
การวิวัฒนาการของตัวอักษรจีน มีการพัฒนาของการเขียน กล่าวโดยรวมอักษรจีนได้ผ่านการปฎิรูป 7 ครั้ง ดังนี้
1. อักษรเจี๋ยกู่เหวิน เป็นอักษรที่แกะสลักไว้บนกระดองเต่า และกระดูกสัตว์ อยู่ในสมัยราชวงศ์เซี่ยและซาง
2. อักษรโลหะ เป็นอักษรจีนที่หลอมบนเครื่องใช้โลหะ อยู่ในสมัยราชวงศ์โจวตะวันตก
3. อักษรจ้วนซู เป็นอักษรจีนที่เน้นความสวยงาม แต่ยุ่งยากในการเขียน อยู่ในสมัยราชวงศ์โจวตะวันออก ราชวงศ์จิ๋น และราชวงศ์ฮั่น
4. อักษรลี่ซู เป็นอักษรที่ดัดแปลงมาจากอักษรจ้วนซู อยู่ในสมัยราชวงศ์ฉิน และสมัยราชวงศ์ฮั่น
5. อักษรเฉ่าซู (ตัวหวัด) เป็นอักษรจีนที่อ่านเข้าใจยาก อยู่ในสมัยราชวงศ์จิ้น และสมัยหนันเป่ยเฉา
6. อักษร สิงซู เป็นอักษรจีนที่สวยงาม เขียนง่าย และอ่านเข้าใจง่าย อยู่ในสมัยราชวงศ์จิ้น และสมัยหนันเป่ยเฉา
7. อักษรไข่ซู เป็นอักษรจีนที่บรรจงที่สุด อยู่ในสมัยราชวงศ์ซุย และสมัยราชวงศ์ถัง จนถึงปัจจุบันครับ
เกร็ดวัฒนธรรมการตั้งชื่อของชาวจีน 
การตั้งชื่อสำหรับคนตะวันออก โดยเฉพาะคนจีนนั้นมีความสำคัญมาก โดยนอกจากจะต้องตั้งให้มีความเป็นมงคล แล้วยังต้องตั้งชื่อให้ไม่ซ้ำกับบรรพบุรุษอีกด้วย ทั้งตัวอักษรหรือแม้แต่การออกเสียง! มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นการแสดงความไม่เคารพต้องบรรพบุรุษ การจะตั้งชื่อแบบฝรั่งอย่างเช่น พ่อเป็น จอร์จ บุช ซีเนียร์ และลูกเป็น จอร์จ บุช จูเนียร์ จึงถือเป็นเรื่องแปลกประหลาดในประเพณีดั้งเดิมของจีน
อย่างไรก็ตามด้วยเหตุที่คนจีนมีกันยุบยับเดินกันเต็มโลกไปหมด เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการตั้งชื่อ ลูก-หลานซ้ำกับบรรพบุรุษ ดังนั้นในบ้านคนจีนทุกหลังจึงต้องมีสมุดอยู่หนึ่งเล่มเรียกว่า “เจียผู่:家谱” (เหมือนกับ Family Tree ของฝรั่ง) บรรจุเนื้อหาเป็นประวัติตระกูลนั้นๆ ว่าเป็นมาอย่างไร ใครเป็นบรรพบุรุษ และผู้สืบสกุลแต่ละรุ่นจะต้องมีชื่อกลางว่าเช่นไร
ทั้งนี้หากท่านผู้อ่านที่มีเชื้อจีนอยากย้อนกลับไปดูว่า ต้นตระกูล รากประวัติของตัวเองมาจากไหน มีสถานที่หนึ่งที่ผมอยากแนะนำให้ไปเยือนสักครั้ง ก็คือ สุสานจักรพรรดิเหลือง หรือ หวงตี้ ที่ตั้งอยู่ เฉียวซาน หวงหลิง มณฑลส่านซี
เนื่องจากชาวจีนถือว่า “จักรพรรดิเหลือง” หรือ “หวงตี้” (เชื่อกันว่าครองราชย์ระหว่างปี 2490-2413 ก่อนคริสตกาล) เป็นผู้ปราบปรามชนเผ่าต่างๆ และรวบรวมกันไว้ ขณะที่ก็พัฒนาด้านความเป็นอยู่ให้ชาวจีนควบคู่ไป ด้วยการแนะนำให้ทำการเกษตร เลี้ยงไหม คิดค้นเกวียน เรือ จนถึงเข็มทิศ นอกจากนี้พระองค์ยังมีอัฉริยภาพอีกมากมาย
      
จนมีตำนานเล่ากันว่า เมื่อองค์จักรพรรดิเสด็จสวรรคตกลายเป็นเซียน ขณะที่พระองค์กำลังเสด็จขึ้นสวรรค์ ด้วยความรัก-ความเสียดาย ชาวจีนที่อยู่บนพื้นโลกจึงพยายามดึงพระองค์เอาไว้ แต่ก็ไม่สำเร็จ โดยสิ่งที่เหลืออยู่บนโลกก็เพียงเสื้อผ้า ที่ชาวจีนเอามาฝังไว้ที่ “สุสานจักรพรรดิเหลือง” แห่งนี้
ปัจจุบัน สุสานจักรพรรดิเหลือง กลายเป็นสถานที่สำคัญ ของคนเชื้อสายจีนไปเสียแล้ว โดยในทุกๆ ปีจะมีประเพณีไหว้จักรพรรดิเหลืองใหญ่ 2 ครั้งโดย คือ ในช่วงเชงเม้ง โดยเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำคนจีนทั้งมวลจะเดินทางมาสักการะองค์จักรพรรดิด้วยตนเอง ส่วนอีกครั้งหนึ่งก็คือ วันที่ 9 เดือน 9 หรือ 9 กันยายน โดยถือเป็นวันที่ชาวบ้านร่วมกันจัดงานระลึกถึงการส่งจักรพรรดิเหลืองขึ้นสวรรค์
ทั้งนี้ชาวจีน และนักท่องเที่ยวที่มาเยือนถึง สุสานจักรพรรดิเหลือง มักไม่พลาดที่จะหาป้ายประวัติบุคคลผู้ตั้งตระกูลของตนเองเก็บเอาไว้บูชา และระลึกถึง
นอกเหนือจากการห้ามไม่ให้มีการตั้งชื่อ ทายาท ซ้ำกับชื่อบรรพบุรุษ แล้ว ประเพณีดั้งเดิมของจีนก็ยังมีข้อห้ามที่น่าสนใจอีกอย่างที่น่าสนใจ คือ ในเรื่องของช่วงอายุ
สำหรับคนไทยในบรรดาช่วงอายุของชีวิตนั้นมีอยู่หลายตัวเลข ที่เชื่อกันว่าไม่ค่อยเป็นมงคลนัก และต้องระมัดระวังในการใช้ชีวิต อย่างเช่น 25 ปี เบญจเพศ ก็มีหลายคนเชื่อกันว่า ให้ระมัดระวังเรื่องอัปมงคล เอาไว้อย่างเช่น เกิดอุบัติเหตุ อันตรายได้รับบาดเจ็บ แต่สำหรับคนจีนแล้วในช่วงอายุมีอยู่ 4 ตัวเลขที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ 45, 73, 84 และ 100 ปี
เริ่มจากตัวเลขมากสุดก็แล้วกัน … “100 ปี” นั้นชาวจีนเชื่อว่า เป็นอายุขัยสูงสุดของมนุษย์ อีกสองตัวถัดมา คือ “73 ปี” และ “84 ปี” เป็นอายุขัยของสองยอดปราชญ์ของจีนคือ ขงจื่อ (73) และเมิ่งจื่อ (84) ดังนั้น ชาวจีนจึงเชื่อกันว่าเมื่อ อายุ 73 ปี และ 84 ปี แม้แต่ผู้รู้ทั้งสองยังเอาตัวไม่รอด แล้วคนธรรมดาอย่างเราๆ จะไปเหลืออะไร!!!
      
ส่วน “45 ปี” นั้นมาจาก “เปาบุ้นจิ้น” หรือ “เปากง” (ค.ศ.999-1062) ผู้ทรงความยุติธรรม แห่งเมืองไคฟง (หรือ คายเฟิง) ราชธานีของราชวงศ์ซ่งเหนือ โดยเมื่ออายุได้ 45 ปี บุคคลในประวัติศาสตร์ที่ชาวจีนให้ความเคารพนับถือนี้ ประสบเหตุร้ายแรงเกือบถึงแก่ชีวิต
      
แต่ก็น่าแปลกใจว่าทำไม จึงไม่มีการยึดเอาอายุขัยของ “เปาบุ้นจิ้น” คือ 63 ปีเป็นตัวเลขอันตราย เหมือนกับ ขงจื่อและเมิ่งจื่อบ้าง?
อย่างไรก็ตามด้วยตัวเลข 4 ตัวนี้ ครอบครัวคนจีน เมื่อมีคนในบ้าน หรือผู้อาวุโสในบ้าน อายุครบช่วงดังกล่าว จึงค่อนข้างจะระมัดระวังอันตรายและอุบัติเหตุ เป็นพิเศษ นอกจากนี้มีประเพณีกันว่า ห้ามพูดว่า “ปีนี้อายุครบ 45, 73, 84 หรือ 100 ปี” เป็นอันขาด แต่หากมีความจำเป็นก็ให้ใช้วิธีพูดเลี่ยงๆ แทน อย่างเช่น  หากปีนี้ อาม่า อายุครบ 73 ปี ก็ให้เลี่ยงไปบอกว่า “ปีที่แล้วอาม่าอายุ 72 ปี” หรือ “ปีหน้าอาม่าจะอายุ 74 ปี” แทน
สารทจีน : เทศกาลสำคัญที่กำลังลบเลือน
      สารทจีน เป็นเทศกาลสำคัญทั้งของลัทธิขงจื๊อ พุทธศาสนา ศาสนาเต๋า และชาวบ้าน ในอดีตเป็นเทศกาลใหญ่มาก แต่ปัจจุบันลดความสำคัญลง นอกจากในวัดพุทธและวัดเต๋าแล้ว แพร่หลายอยู่ในหมู่ชาวบ้านจีนภาคใต้ ตั้งแต่มณฑลหูเป่ย อานฮุย เจ้อเจียง ลงมาจนถึงกวางตุ้ง กวางสี ยูนนาน ในหมู่ชาวจีนแคะ กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว และไหหลำ ยังคงเป็นเทศกาลใหญ่ เป็น ๑ ใน ๘ เทศกาลสำคัญประจำปีของจีนแต้จิ๋ว ในไทยสารทจีนเป็นเทศกาลจีนสำคัญอันดับ ๒ รองจากตรุษจีนเท่านั้น
      เทศกาลนี้มีชื่อเป็นทางการว่า “จงหยวนเจี๋ย”  แต้จิ๋วว่า “ตงหง่วงโจ็ย” แต่ชื่อทั่วไปนิยมเรียกว่า  แต้จิ๋วอ่านว่า “ชิกว็วยะปั่ว” แปลว่า “(เทศกาล) กลางเดือน ๗” นอกจากนี้ยังมีชื่อที่นิยมเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “กุ่ยเจี๋ย ( กุ๋ยโจ็ย)” แปลว่า “เทศกาลผี” ชื่อทั้งสามนี้ถ้าคุยกับคนจีนภาคใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน ทุกคนจะรู้จักดี แต่คนปักกิ่งจะไม่รู้จักเลย เพราะเทศกาลนี้ปัจจุบันชาวบ้านจีนภาคเหนือไม่ได้ทำแล้ว คงเหลือแต่ในวัดพุทธและเต๋าเท่านั้น
      คำ “จงหยวน ” ที่เป็นชื่อเทศกาลนี้เป็นคนละคำกับ “จงหยวน ” ซึ่งหมายถึง “ดินแดนลุ่มแม่น้ำฮวงโหตอนกลางและตอนล่างอันเป็นศูนย์กลางอารยธรรมจีน” จงหยวนที่เป็นชื่อเทศกาลได้มาจากชื่อเทพประจำเทศกาลนี้ของศาสนาเต๋า
วันเทศกาลสารทจีนคือวันเทวสมภพของเทพจงหยวน จึงเรียกว่า “จงหยวนเจี๋ย (ตงหง่วงโจ็ย) แปลว่า เทศกาลเทพจงหยวน ตรงกับวันกลางเดือน ๗ จึงเรียกว่า “ชีเย่ว์ปั้น ( ชิกว็วยะปั่ว) หมายถึงเทศกาลกลางเดือน ๗ แต่เทศกาลนี้มีกิจกรรมเกี่ยวเนื่องตั้งแต่ต้นจนถึงสิ้นเดือน ๗ คือวัน ๑ ค่ำ เป็นวัน “เปิดยมโลก” ให้ผีทั้งหลายออกมารับการเซ่นสังเวย วัน ๑๕ ค่ำ เป็นวันไหว้ใหญ่ทั้งผีบรรพชนและผีไม่มีญาติ วันสิ้นเดือน ๗ (๓๐ ค่ำ หรือแรม ๑๕ ค่ำ) เป็นวัน “ปิดประตูยมโลก” ผีทั้งที่ยังไม่ได้ไปผุดไปเกิดต้องกลับเข้ายมโลก วันต้นเดือน สิ้นเดือน มีพิธีไหว้ด้วย และมีพิธีทิ้งกระจาดอุทิศส่วนกุศลให้เปตชนครั้งใหญ่ในช่วงครึ่งหลังของเดือน ๗ อีกต่างหาก กิจกรรมทั้งหมดล้วนแต่เกี่ยวกับผี คนจีนจึงถือว่าเดือน ๗ เป็น “เดือนผี” และเทศกาลกลางเดือน ๗ คือ “เทศกาลผี” แต่ที่คนไทยเรียกสารทจีนเพราะวันนี้ใกล้กับวันสารทไทย อีกทั้งอยู่ในช่วงต้นฤดูสารทหรือชิวเทียน ( Autumn) ของจีนอีกด้วย
        เทศกาลจงหยวนมีที่มาจากประเพณีจีนโบราณ คือวันอุลลัมพนบูชาของพุทธศาสนาและความเชื่อของศาสนาเต๋ารวมกันอย่างกลมกลืน วัฒนธรรมประเพณีจีนโบราณเป็นที่มาของลัทธิขงจื๊อและคตินิยมพื้นฐานของคนจีนตลอดมา ลัทธิขงจื๊อจึงเป็นศาสนาสำคัญที่สุดของจีนไปโดยปริยาย แต่ก็เข้ากันได้กับศาสนาพุทธและศาสนาเต๋าซึ่งเข้ามาแพร่หลายและเกิดขึ้นในภายหลัง จนในวิถีชีวิตคนจีนมีอิทธิพลของ ๓ ศาสนานี้อยู่คละเคล้ากันไป
ไหว้เทพจงหยวน

     เทพจงหยวนเป็นเทพประจำเทศกาลสารทจีน ชื่อเต็มว่า “จงหยวนต้าตี้-อธิบดีแห่งคืนเพ็ญกลาง” หรือ “ตี้กวนต้าตี้-ธรณิศมหาเสนาธิบดี” เรียกสั้นๆ ว่า “ตี้กวน-ธรณิศเสนา” มีหน้าที่ควบคุมดูแลเทพแห่งมหาบรรพตทั้งห้า (ของจีน) ภูเขาและแม่น้ำ เจ้าที่ประจำเมืองทุกเมือง เทพในเมืองที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ตรวจดูโชคเคราะห์ของสรรพสัตว์ ตรวจบัญชีความดีความชั่วของมนุษย์ และหน้าที่สำคัญคือให้อภัยโทษแก่ผู้รู้ผิดกระทำพลีบูชาท่าน วัน ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ท่านจะลงมาตรวจบัญชีชั่วดีของมนุษย์แล้วประทานอภัยให้ นอกจากนี้ท่านยังต้องมาเป็นประธานดูแลการไหว้ผีไม่มีญาติ ซึ่งคนเป็นผู้ไหว้ โดยท่านจะไปเจรจากับ “ลี่” ราชาของผีพวกนี้ ให้ช่วยคุมดูแลบริวารไม่ให้ทำร้ายมนุษย์ ฉะนั้นผู้คนจึงกินเจ ทำพิธีเซ่นสรวงบูชาท่าน เซ่นไหว้บรรพชน เพื่อให้ท่านอภัยโทษให้ทั้งแก่ตนเองและวิญญาณบรรพชน ปัจจุบันในไต้หวันนิยมไหว้ท่านตั้งแต่ยามแรกของวัน ๑๕ ค่ำ จีนแบ่งวันคืนออกเป็น ๑๒ ยาม ยามละ ๒ ชั่วโมง ยามแรกคือช่วง ๕ ทุ่มถึงตี ๑ (๒๓.๐๐-๐๑.๐๐ น.) ยามแรกของวัน ๑๕ ค่ำ ก็คือช่วง ๒๓.๐๐-๐๑.๐๐ น. ของคืนวัน ๑๔ ค่ำ เพราะจีนเริ่มวันใหม่ตอน ๕ ทุ่ม ถ้าไม่ไหว้ตอน ๕ ทุ่ม ก็มาไหว้ตอนเที่ยงวันของวัน ๑๕ ค่ำ หลังจากไหว้บรรพบุรุษไปแล้ว ในจีนแต่ละถิ่นเวลาไหว้ต่างกัน บางถิ่นก็ไม่ได้ไหว้แล้ว ส่วนในไทยไม่ปรากฏมีพิธีไหว้เทพจงหยวนโดยเฉพาะ ประเพณีนิยมการไหว้ในวันเทศกาลจีนของไทยจะไหว้เจ้าและเทวดาทั้งหมดตอนเช้า อนึ่งคนจีนในไทยนับถือ “ตี่จู๋เอี๊ย ” คือ “เจ้าที่” มาก มีศาลเล็กๆ ตั้งอยู่ในบ้านแทบทุกบ้าน ตี่จู๋เอี๊ยอยู่ใต้บังคับบัญชาของตี้กวน (ธรณิศเสนา) หรือเทพจงหยวน จึงถือได้ว่าเป็นตัวแทนของท่านประจำอยู่ทุกบ้าน การไหว้ตี่จู๋เอี๊ยจึงพออนุโลมแทนการไหว้เทพจงหยวนได้
ไหว้บรรพชน

     การเซ่นไหว้บูชาบรรพชนเป็นประเพณีเก่าแก่ที่สุดของจีน เพราะจีนถือระบบวงศ์ตระกูลเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เป็นศูนย์กลางของสังคมและวัฒนธรรมจีน การไหว้บรรพชนเป็นกิจสำคัญที่สุดของลูกหลาน เจ้าอาจไม่ต้องไหว้ก็ได้ แต่ปู่ย่าตายายไม่ไหว้ไม่ได้
การไหว้บรรพชนในวันสารทจีน เดิมมีทั้งไหว้ที่บ้านหรือศาลประจำตระกูล (ฉือถาง ) ในหมู่บ้าน และไปไหว้ที่สุสานเหมือนวันเช็งเม้ง แต่ปัจจุบันเหลือแต่การไหว้ที่บ้าน ตามความเชื่อของชาวจีนเชื่อว่า วันสารทจีนวิญญาณบรรพชนที่ยังไม่ได้ไปเกิดจะกลับมาเยี่ยมบ้าน แต่ก่อนที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน มีประเพณีเชิญวิญญาณบรรพชนมาบ้านตั้งแต่เย็นวัน ๑๒ ค่ำ เดือน ๗ แล้วไหว้ตอนค่ำตั้งแต่วัน ๑๒-๑๔ ค่ำ วัน ๑๕ ค่ำไหว้ใหญ่ ตอนค่ำทำพิธีส่งวิญญาณกลับ ปกติการไหว้บรรพชนนิยมไหว้ช่วงก่อนเที่ยง ตั้งแต่ ๐๙.๐๐ น. เป็นต้นไป โดยไปไหว้ที่ศาลประจำตระกูลในหมู่บ้าน ซึ่งมีป้ายสถิตวิญญาณของบรรพชนรวมอยู่ หรือจะไหว้ในบ้านของตนเองก็ได้
ไหว้ผีไม่มีญาติ

      การไหว้ผีไม่มีญาติเป็นกิจกรรมสำคัญของวันสารทจีนมาแต่โบราณ ผีพวกนี้โบราณเรียกว่า
“ลี่ ” ถือเป็นผีชั่วร้าย อิทธิพลพุทธศาสนาทำให้ทัศนะของผีพวกนี้เปลี่ยนไปเป็นผีที่น่าสงสาร จนปัจจุบันเรียกผีพวกนี้ว่า “ฮอเฮียตี๋ ” แปลว่า “พี่น้องที่ดี” การไหว้ผีพวกนี้ไม่ไหว้ในบ้าน นิยมไหว้ริมถนนหนทาง ชายน้ำ สมัยโบราณจัดสถานที่ไหว้นอกเมือง เรียกว่า “ลี่ถาน” ในอดีตการไหว้ผีไม่มีญาติเป็นกิจกรรมสำคัญที่ขาดไม่ได้ นอกจากไหว้ในวันสารทจีน ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ แล้วยังไหว้ในวัน ๑ ค่ำ และวัน ๓๐ ค่ำ ซึ่งเป็นวันเปิดประตูยมโลกและปิดประตูยมโลกอีกด้วย แต่ปัจจุบันในจีนการไหว้ “ฮอเฮียตี๋” ในวันสารทจีนเหลือน้อยมาก ในถิ่นกวางตุ้ง แคะ ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว แทบไม่มีเลย เพราะยกไปไหว้รวมกันเป็นกิจกรรมของชุมชน โดยเรี่ยไรเงิน ข้าวของไปจัดพิธี “ซีโกว” ไหว้ผีไม่มีญาติที่วัดในช่วงหลังวันสารทจีน ส่วนในไต้หวันยังมีผู้ไหว้อยู่ นิยมไหว้ช่วงเย็นตั้งแต่ ๑๖.๐๐ น. เป็นต้นไป ในไทยแต่ก่อนไหว้กันแทบทุกบ้าน ปัจจุบันยังพอมีเหลืออยู่บ้างไม่มากนัก
ทิ้งกระจาด (ซิโกว)

     การอุทิศส่วนกุศลให้ผีไร้ญาติ นอกจากการเซ่นไหว้ส่วนตัวของแต่ละครอบครัวแล้ว ยังมีพิธีกรรมของส่วนรวมแต่ละชุมชนอีกด้วย การทิ้งกระจาดเป็นพิธีสำคัญเพื่อการนี้ เป็นการ “ซีโกว” คือการอุทิศส่วนกุศลแก่ผีไม่มีญาติแบบหนึ่ง ชื่อตามคัมภีร์พุทธศาสนาของจีนเรียกว่า  แต้จิ๋วอ่านว่า “หยู่แคเอี่ยมเค่า” จีนกลางว่า “อวี๋เจียเยี่ยนโข่ว” แปลว่า “พิธีเปรตพลีโยคกรรม” เป็นพิธีสำคัญคู่กับ “อุลลัมพนสังฆทาน” ของวัดและพุทธศาสนิกชนจีน อุลลัมพนสังฆทาน จัดข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องอุปโภคบริโภคใส่อ่างหรือกระจาดถวายสังฆทาน อุทิศส่วนกุศลแก่บิดามารดาและบรรพชน ส่วนผีไร้ญาติจัดพิธีทิ้งกระจาดอุทิศส่วนกุศลให้ หลักการสำคัญของพิธีคือแจกทานแก่คนยากจนอุทิศส่วนกุศลแก่ผีไร้ญาติ โดยผ่านพิธีกรรมทางพุทธศาสนา นิมนต์มาทำพิธีพุทธบูชา สวดมนต์บทที่เกี่ยวข้องกับพิธีนี้แล้วเอาข้าวของที่มีผู้บริจาคมาแจกแก่ผู้มารับทานซึ่งส่วนมากเป็นคนยากจน แต่อาจมีพวก “อยากจน” ปะปนอยู่บ้าง รายละเอียดโปรดอ่านในเรื่องพิธีทิ้งกระจาดของอาจารย์เศรษฐพงษ์ จงสงวน ปัจจุบันการจัดอุลลัมพนสังฆทานในหมู่ชาวบ้านจีนสูญสิ้นไป แต่การทิ้งกระจาดยังได้รับความนิยมอยู่ แต่รูปแบบที่จัดในจีน ไต้หวัน และไทยมีความแตกต่างกันบ้าง พิธีนี้ส่วนมากจัดหลังวันตรุษจีน แต่ละถิ่นไม่ตรงกัน แต่ต้องก่อนวัน ๓๐ ค่ำ เดือน ๗ อันเป็นวัน “ปิดประตูยมโลก”
ขอขอบคุณ บทความของคุณ ถาวร สิกขโกศล วารสารศิลปวัฒนธรรม
หนังสือดี ที่ต้องอ่าน

No comments:

Post a Comment